“ให้อากาศสะอาดเป็นของขวัญลูกหลานในอนาคต” นักวิชาการหวังผ่านร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมเมือง ภายใต้ “เทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลง” จัดเวทีเสวนา ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และ ร่าง พ.ร.บ.กํากับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ เปิดจุดเด่น – หัวใจสำคัญนำไปสู่นโยบายและแรงจูงใจลดการก่อมลพิษ

วันนี้ (9 ม.ค. 2564) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รศ.วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศสร้างมูลค่าความเสียหายมากที่สุดหากเทียบกับมลพิษชนิดอื่น ขณะที่อากาศสะอาดมีจำกัดที่เราจะหาได้ยากมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องพิจารณาต้นทุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากกิจกรรมด้วย ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ทำให้ประชาชนป่วยและสร้างรายจ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม หากภาคธุรกิจได้เติบโตแต่ประชาชนป่วยเท่ากับเป็นการเติบโตที่เปราะบาง

ธนาคารโลกตีมูลค่าความเสียหายจากมลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้คนป่วยแล้วต้องไปหาหมอ เป็นภาระด้านสาธารสุข คิดเป็น 4% จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือราว ๆ ล้านล้านบาท หากคนหนึ่งป่วยและต้องมีคนไปเฝ้าต้องลางาน หรือต้องคอยป้องกันตัวเอง ต้องซื้อหน้ากากอนามัยราคาแพง งานวิจัยยังพบว่าครัวเรือนไทยโดยรวมเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้คิดเป็น 1.67 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมถึงความสุขที่หายไปจากครอบครัว

รศ.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยแสดงให้เห็นต้นทุนที่เกิดขึ้นชัดเจน ระหว่างผู้ก่อมลพิษและผู้ลดมลพิษ คือหากก่อมลพิษเยอะจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น ส่วนผู้ที่ลดมลพิษจะได้ประโยชน์มากขึ้น นี่คือมาตรการแรงจูงใจ ที่ชวนให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ และจัดการต้นทุนของตนเอง โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ปรับตัวและเพิ่มศักยภาพการผลิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

การเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้กระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คือการเปลี่ยนผ่านทางผลประโยชน์ เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหม่ที่ผลิตอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นมากขึ้น ที่สำคัญคือประโยชน์ของประชาชน ลดต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายจากการถูกละเมิดสิทธิในการมีอากาศสะอาดให้เหลือน้อยลง คนรุ่นใหม่ต้องช่วยกัน รักษาสิทธิ์ในการมีอากาศสะอาด เพื่อตัวของท่าน และคนในอนาคต ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่คนในอนาคตจะบอกได้ว่าเรากำลังทำสิ่งดี ๆ ให้กับเขาอยู่

ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล นักกฎหมายการคลังและภาษีอากร สมาชิกทีมร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ระบุว่า เนื้อหาในร่างฉบับนี้ยังพูดถึง การจัดตั้ง เงินกองทุนอากาศสะอาด เพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติมในการบำบัดอากาศสะอาด เช่น ซื้อเครื่องฟอกอากาศให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยมีรายรับของกองทุนจากหลากหลายที่มา เช่น เก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิต อย่างน้ำมันที่ทำให้เกิดเชื้อเพลิงและมลพิษทางอ้อม แต่สินค้าอากาศสะอาดไม่กระทบเงินภาษี เก็บค่าธรรมเนียมบำบัดเงินปรับค่าสินไหมทดแทนจากการฟ้องร้องหมอกควันข้ามแดน โดยทำงานร่วมกัน มีคณะกรรมการที่ควบคุมรายจ่ายให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หลายคนมักมีคำถามว่า การเผาป่า ที่ประชาชนตาดำ ๆ ไปเผาจะเก็บค่าธรรมเนียมไหม ปัจจุบันไม่มีการเก็บ และในอนาคตก็ไม่มีเก็บ แต่จะไปเก็บกับผู้ประกอบการโรงงาน ว่าถ้ามีการเผาไหม้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีสะอาดก็จะมีการเก็บเงินเข้ากองทุน หมายความว่าจะมีการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเภทหันมาเลือกใช้กระบวนการที่ปล่อยผลพิษน้อย ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ใช่การตะบี้ตะบันเก็บเงินแน่นอน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า มีการสำรวจพื้นที่อุตสาหกรรมอย่าง จังหวัดสมุทรสาคร เก็บตัวอย่างจากฝุ่นที่พื้นดินและไข่ไก่ จากแม่ไข่ที่คุ้ยเขี่ยหากินตามธรรมชาติ พบว่ามีสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองที่ตกลงสู่พื้น หลายพื้นที่ปัญหาเรื่องฝุ่น ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการจัดการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาบ่งบอกว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น และมลพิษทางอากาศได้จึงต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ขึ้นใหม่

“สิ่งที่ทำให้รู้สึกผิดหวังคือรัฐบาล เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่เริ่มมาจากนโยบายของรัฐที่มีปัญหา เช่น การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ไม่มองถึงผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน ทั้งยังมีการปกปิดข้อมูลของรัฐเวลาที่ประชาชนถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐไม่ให้ข้อมูล ทั้งที่ระยอง แม่เมาะ ลำปาง เขตอีอีซี รัฐจะมีคำสั่งว่าข้าราชการทั่วไปห้ามให้ข้อมูลกับประชาชนและนักข่าว จะต้องเป็นระดับอธิบดีขึ้นไปเท่านั้น เพราะกลัวประชาชนจะตื่นกลัว”

เพ็ญโฉม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่กองทุนอากาศสะอาดในร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งยังช่วยทำให้การทำงานภาคประชาชนทำงานได้โดยสะดวกและเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

ร่างกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุดให้การกำกับควบคุมดูแล และให้ตำแหน่งภาคประชาชนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของที่ประชุมด้วย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนว่ากำลังทุกข์ร้อนหรือมีความต้องการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เท่ากับให้อำนาจประชาชนตั้งแต่กลไกการนำเสนอ ร่วมกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ รวมถึงแนวทางเยียวยา

ผศ.ธนาชัย สุนทรอนันตชัย รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สมาชิกทีมร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ มองว่า การส่งเสริมเศรษฐกิจ และการมีกฎหมายสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทำให้มิติด้านสิ่งแวดล้อมถูกด้อยค่า และหน่วยงานรัฐเองยังทำงานไม่เชื่อมโยง ไม่บูรณาการ เช่น หากภาคอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ กลับมีหน่วยงานที่ กำกับ ควบคุม เอาผิด แก้ปัญหากันคนละหน่วย ไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงต้องมีกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยกำกับควบคุม เพื่อจัดการดูแลอากาศให้ดีขึ้นด้วย

สิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาคือ ไม่มีใครจะมากำกับดูแลการทำงานระหว่างหน่วยงาน เช่น มีปัญหาเรื่อง การเผาไหม้จากภาคเกษตร ควันพิษจากคมนาคม มีใครสามารถเอาเรื่องเหล่านี้มาแก้ปัญหาร่วมกันได้บ้าง เมื่อปลายทางสร้างผลกระทบแบบเดียวกัน และหากมีการจัดการมักเป็นรูปแบบของบนลงล่าง จึงต้องมีแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะมาช่วยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมลพิษ การสร้างแผนทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสม

ผศ.ธนาชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติกํากับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ จะสร้างกลไกแก้ปัญหาในหลายมิติ

เช่น การปกป้องทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข เปิดช่องให้มีองค์กรอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ร่างโครงสร้างการทำงานที่ต้องกระจายบทบาทสู่ระดับจังหวัด ให้สามารถทำหน้าที่สร้างกระบวนการแก้ปัญหาเพราะในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่มาที่ไปที่ต่างกัน การใช้มาตรการจูงใจร่วมกับมาตรการลงโทษที่ทำให้เกรงกลัวต่อการปล่อยมลพิษ เป็นต้น

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีได้ เริ่มแรกต้องได้รับอากาศสะอาด ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ก็คือ กฎหมายเพื่อสุขภาพที่ดี และสุขภาพที่ดีควรจะเป็น

“หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อย่างแรกคือการส่งเสริมและให้สิทธิที่ประชาชนจะรู้ว่า รัฐบาลมีนโยบายอะไร ที่ทำร้ายสุขภาพของพวกเรา ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ ต้องมาให้ครบองค์ประกอบของสารเคมีในพื้นที่นั้นๆ ด้วย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็มีความพยายามที่จะยกระดับการวัดดัชนี แต่ก็ถูกปัดตก สิ่งนี้ถูกบรรจุอยู่ในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ จึงคาดหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ถูกปัดตกอีก”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ได้ผ่านทางเว็บไซต์ Thailand Can

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้