กรมควบคุมโรค ขอประชาชนปฏิบัติ 4 ข้อ ไม่ให้โควิด-19 พุ่งหลักหมื่น

พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว แนะงดไปสถานที่เสี่ยงที่ระบายอากาศไม่ดี งดดื่มสุราในร้าน เลี่ยงการรวมตัวจำนวนมาก เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น งดเดินทางข้ามประเทศ ป้องกันตนเองสูงสุด และตรวจ ATK เป็นประจำ หากผลบวกโทร 1330 เข้าสู่ระบบ HI 

วันที่ 6 ม.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด -19 ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากเป็นไปตามคาดการณ์ หากไม่มีมาตรการหรือความร่วมมือของประชาชน อาจติดเชื้อรายวันเกินหมื่นคนในเร็ววันนี้ แต่การเสียชีวิตยังมีแนวโน้มลดลง 

“ปีใหม่ขอให้เน้นทำงานที่บ้านในช่วงสัปดาห์แรก หากจำเป็นต้องกลับเข้าไปทำงานให้ตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน กรณีผลบวกให้ติดต่อสายด่วน 1330 เพื่อลงทะเบียนรับยา อุปกรณ์ และติดตามการรักษา” 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการประกาศแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 4 เพื่อขอความร่วมมือ คือ 

  1. งดไปสถานที่เสี่ยงที่ระบบระบายอากาศไม่ดี แออัด ไม่ใส่หน้ากาก งดรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้าน 
  2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก 
  3. เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น ขอให้งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภทแต่หากมีความจำเป็นขอให้ระมัดระวัง ซึ่งขนส่งสาธารณะมีมาตรการเข้มงวด ทั้งใส่หน้ากาก ตรวจ ATK กรณีใช้เวลาโดยสารนาน  
  4. งดเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีการระบาดสูง และผู้เดินทางกลับมาติดเชื้อจำนวนมาก และช่วงนี้ขอให้ป้องกันตนเองด้วย VUCA 

ส่วนมาตรการทางกฎหมาย เช่น การปรับพื้นที่สี หรือการปิดสถานที่ต่างๆ ศบค.มีการประชุมเพื่อปรับมาตรการวันที่ 7 มกราคม 2565 

ชงระงับลงทะเบียน Test & GO ถึง 31 ม.ค. 65 

ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามระบบ Sandbox และระบบ Test & GO จากตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน จ.ภูเก็ต โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ จ.ภูเก็ต เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 150 คนต่อวัน ส่วนใหญ่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย ทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน รวมถึงผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยว โดยผู้ติดเชื้อร้อยละ 98 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเล็กน้อย และไม่พบผู้เสียชีวิตมากว่า 2 สัปดาห์

จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้กำชับให้ติดตามประเมินสถานการณ์การติดเชื้ออย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากร ทั้งด้านเตียง ยาและเวชภัณฑ์ รองรับ โดยให้เน้นการจัดระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation : HI / Community Isolation : CI) เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 

นอกจากนี้ ได้ให้เพิ่มการจัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด รวมทั้งจะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ให้มีการปรับพื้นที่สถานการณ์โรคโควิด- 19 ทั่วประเทศ มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค ที่เข้มข้นมากขึ้น ส่วนพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวยังคงไว้ตามเดิม แต่ให้ระงับการลงทะเบียนระบบ Test & GO ต่อไปจนถึง 31 มกราคม 2565 

สปสช.เปิด 3 ช่องทางลงทะเบียนสู่ระบบ HI 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ประชาชนทุกคนที่ตรวจ ATK หากพบผลเป็นบวก โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หรือลงทะเบียนด้วยตนเองทางเว็บไซต์ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน โดยจะได้รับการจับคู่สถานพยาบาล เพื่อติดตามและได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ป้องกันอาการภาวะรุนแรง พร้อมควบคุมเผ้าระวังโรค 

ทั้งนี้ ระบบ Home Isolation เป็นบริการที่ครอบคลุมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกสิทธิการรักษา ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบด้วย 3 ช่องทาง ดังนี้ 

  1. โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14    
  2. กรอกข้อมูลด้วยตนเอง ที่ลิงค์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI
  3. Line สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ทำได้ง่ายๆ ดังนี้  

หลังจากเพิ่มเพื่อนไลน์ @nhso ให้กดเมนู บริการเกี่ยวกับโควิด-19 หลังจากนั้นเลือกหัวข้อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม Support Covid-19 ทั้งในส่วนข้อมูลบุคคลและข้อมูลผู้ป่วยCovid-19  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า เมื่อลงทะเบียนในระบบ Home Isolation แล้ว เจ้าหน้าที่จะเร่งประสานและจับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ภายใน 6 ชม. จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น 

หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมงขอให้โทร.แจ้งที่สายด่วนสปสช. 1330 อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จะติดตามให้ ซึ่งหลังจากท่านได้รับการจับคู่ดูแลกับสถานพยาบาลแล้ว จะได้รับบริการดูแลดังนี้ 

  • การประเมินอาการด้วยวิดิโอคอลติดตามวันละ 1 ครั้ง
  • เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ 
  • ส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ 

ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง ให้แจ้งสถานพยาบาลที่ดูแลเพื่อขอรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ และหากมีอาการแย่ลงให้แจ้งสถานพยาบาล เพื่อส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลต่อไป  

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ระบบคอลเซ็นเตอร์ 1330 ยังไม่พบปัญหาอะไร โดยเฉลี่ยผู้โทร.เข้าวันละ 2-3 พันราย แต่เริ่มมีความตื่นตัวในการโทร.เข้ามากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งต่างจังหวัดยังไม่แน่นมาก เนื่องจากกลไกของกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปดูแลคลัสเตอร์ต่างๆในแต่ละจังหวัดก่อนแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ได้โทร.เข้ามาที่สายด่วน สปสช. 

ระบบ HI / CI และรพ.สนาม รองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามหลายแห่งที่ปิดไปแล้วได้ทยอยเตรียมความพร้อมให้เป็น Community Isolation หากมีความจำเป็นต้องยกระดับสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีพื้นฐานการดูแลอยู่แล้วโดยมีโรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายสนับสนุน เช่น สังกัดกรมการแพทย์ มีโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นต้น 

โดยขณะนี้โรงพยาบาลสนามยังมีเตียงเพียงพอสามารถรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวและสีเหลืองเข้ามาดูแลได้ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันทันตกรรมดูแลผู้ติดเชื้อที่เข้าระบบ Home Isolation โดยจัดเวชภัณฑ์ ส่งอาหารให้ถึงบ้าน 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมามั่นใจว่าจะมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ และประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้และตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้เป็นอย่างดี ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์หรือยารักษาอื่นๆ ที่มีความจำเป็น ขณะนี้ยังมีเพียงพอ นอกจากนี้ ยังให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งมีสารตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว เตรียมการผลิตยาเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย ยืนยันว่าไม่มีปัญหายาขาดแคลน

 “จากรายงานพบว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว คาดว่าอาการจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเข้า ICU หรือเสียชีวิต แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้”

อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดวัคซีนแล้วขอให้ทุกคนใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากโควิด- 19 ทุกสายพันธุ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS