วันเด็ก 2565 สสส. ชวน เปลี่ยนความเชื่อ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ยุติความรุนแรงทางกายและใจ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจ พบครอบครัวร้อยละ 58 เชื่อว่า การลงโทษลูกยังจำเป็นสูง แนะส่งเสริมเลี้ยงลูกเชิงบวก พัฒนาทักษะ ให้อิสระเด็ก กล้าคิด-กล้าถาม-กล้าทำ สร้างการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะ

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติปี 2565 ขอเชิญชวนผู้ปกครองและสังคมปรับแนวคิดเลี้ยงดูเด็กให้เป็นการเลี้ยงดูเชิงบวก โดยมุ่งพัฒนาทักษะให้เหมาะสมตามวัย ไม่ใช้ความรุนแรงที่มาจากความเชื่อ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งมีส่วนสร้างบาดแผลในหัวใจเด็ก โดยผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2562 ( Multiple Indicators Cluster Survey : MICS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 58 เชื่อว่าการลงโทษเด็กทางร่างกายเป็นเรื่องจำเป็นในการเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลให้เกิดการลงโทษทางกายและคำพูดที่รุนแรงจนสร้างบาดแผลในจิตใจต่อเด็กในระยะยาว ซึ่ง สสส. ส่งเสริมการเลี้ยงลูกเชิงบวกเพราะจะทำให้เด็กรับมือกับปัญหา กล้าคิด กล้าถาม และกล้าทำ สามารถใช้ศักยภาพที่มีบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ สร้างสุขภาวะ และมีศักยภาพช่วยพัฒนาสังคมในทิศทางที่ดีได้

ณัฐยา กล่าวต่อว่า วัยเด็กเป็นวัยแห่งการสร้างฐานทุนสุขภาพตลอดช่วงชีวิต (Life Long Health) เป็นโอกาสทองที่จะพัฒนาทักษะชีวิต ช่วงที่เหมาะสมคือ อายุ 0-6 ปี เพราะสร้างให้มีสุขภาวะดีรอบด้านได้ง่ายกว่า โดย สสส. มีเป้าหมายผลักดันแนวทางการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ปรับความคิดผู้ปกครองให้เข้าใจเด็กยุคปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว (Learning Space) เน้นให้เป็นพื้นที่เล่น กิจกรรมสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาแนวคิดและทักษะการเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ให้แก่ครู ผู้ปกครองเชื่อมโยงสู่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในชุมชนจนเกิดเป็นสภาวะที่เหมาะสมในการพัฒนาเด็กทั้ง 4 มิติ (Head-Heart-Hand-Health) โดยผู้ปกครองสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ที่ เว็บไซต์ https://happinet.club/ และ เฟซบุ๊ก Happinet Club

“วันเด็กแห่งชาติปีนี้อยากเห็นเด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองดูแลให้เติบโตอย่างอยู่รอดปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งทั้งหมดเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด อยากย้ำว่าเราควรเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ทำให้เกิดบาดแผลทั้งทางกายและใจ ไม่เลี้ยงดูด้วยความเชื่อว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ก็จะช่วยปูพื้นฐานจิตใจที่ดีให้แก่เด็ก เป็นฐานทุนที่เด็กจะพัฒนาต่อยอดเพื่อเติบโตเป็นคนที่มีสุขภาวะ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้