ปลัด พม. ยัน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงกำไรฯ ไม่ได้ทุบหม้อข้าว NGO

ย้ำชัดมีกฎหมายเพื่อสนับสนุน การทำงานภาคประชาชน ชี้ในต่างประเทศก็ใช้แนวทางนี้ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย  

พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

วันนี้ (5 ม.ค.65) พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบแนวทางการยก ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมอบหมายให้ พม. รับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป 

“ขอยืนยันว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เราต้องร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้วยกันมาโดยตลอด”

สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ทำให้ต้องออกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ได้รับรองไว้ ซึ่งหลายประเทศมีกฎหมายลักษณะนี้เช่นเดียวกัน 

อีกทั้งองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีผลงานเชิงประจักษ์จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้บริจาคให้กับองค์กรนั้น ๆ เพื่อเป็นการรับประกันความโปร่งใสในการบริหารงานขององค์กร เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริจาคว่าองค์กรจะนำเงินและสิ่งของที่บริจาคนั้น ไปใช้เพื่อประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ เบื้องต้น ครม.ได้รับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และมอบหมายให้พม. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบก่อนเสนอ ครม. ต่อไป และร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังสามารถแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่ง พม. พร้อม รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเพื่อเสนอต่อ ครม. พิจารณาต่อไป

ย้ำท่าทีรัฐเมินประชาชนเป็นหุ้นส่วนพัฒนา

ก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนหลายองค์กร ได้แสดงออกถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ปรับปรุงมาจากร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม ของ พม. ซึ่งเดิมมีเนื้อหาส่งเสริมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ฉบับล่าสุดที่เข้า ครม.นั้น สุนทรีย์ หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งข้อสังเกต ว่า มีเนื้อหาควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม

ภาคประชาชนหลายองค์กร คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ต่อตัวแทนรัฐบาล (27 ธ.ค.64)

เช่น องค์กรไม่แสวงหากำไร จำเป็นต้อง จดแจ้งการเป็นองค์กร กับ พม., ต้องเปิดเผยที่มาและจำนวนเงินต่อสาธารณะ โดยองค์กรที่รับเงินทุนต่างประเทศ จะต้องแจ้งตั้งแต่ต้น ว่า จะนำเงินทุนไปทำกิจกรรมอะไรบ้าง และต้องไม่เข้าข่ายกระทบความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสงบ ไม่เช่นนั้นจะถูกเรียกสอบ สั่งปรับ โดยจะต้องรับโทษทั้งองค์กร ตัวผู้ดำเนินงาน และกรรมการ

จึงเป็นที่มาให้ องค์กรภาคประชาสังคม ออกหนังสือคัดค้าน ของให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โดยเครือข่ายภาคประชาชน เห็นว่า เป็นการกระทำที่ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามมาตรา 77 และขัดหลักเสรีภาพการรวมกลุ่ม โดยเครือข่ายภาคประชาชน ย้ำว่า สิ่งที่ควรตรวจสอบมากกว่าองค์กรแสวงหาผลกำไร คือ ภาครัฐ

“ตลอดการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ อยู่แล้ว โดยเห็นว่า ท่าทีรัฐเวลานี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้มองว่า ภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS