“ฝุ่น” ไม่ใช่ “หมอก” มีผลกระทบต่อสุขภาพ

คพ. รายงานค่าฝุ่น PM2.5 กรุงเทพฯ เกินมาตรฐาน 46 เขต จากทั้งหมด 50 เขตกรมอนามัย แนะ ผู้มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเวลานาน ควรสวมหน้ากากกันฝุ่น

วันนี้ (24 ธ.ค. 2564) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ พบว่า ปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่

สำหรับกรุงเทพมหานคร โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ตรวจวัดได้ 39 – 96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐาน 46 เขต และไม่เกินค่ามาตรฐาน 4 เขต คือ เขตจตุจักร เขตสะพานสูง เขตลาดพร้าว และเขตหนองจอก ในพื้นที่ปริมณฑลที่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ สมุทรปราการ (อ.เมือง อ.พระประแดง) สมุทรสาคร (อ.เมือง และ อ.กระทุ่มแบน) นครปฐม (อ.เมืองนครปฐม)

ขณะที่หลายจุดเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

  • ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม ค่าฝุ่น 96 มคก./ลบ.ม.
  • ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา ค่าฝุ่น 94 มคก./ลบ.ม.
  • ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ค่าฝุ่น 93 มคก./ลบ.ม.
  • ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน ค่าฝุ่น 85 มคก./ลบ.ม.
  • ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ค่าฝุ่น 77 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ช่วงสายวันนี้ หลายจุดยังคงปรับตัวสูงขึ้น เช่น เขตหนองแขมและเขตทวีวัฒนา ค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นแตะไปถึง 102 มคก./ลบ.ม. อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ฝุ่น PM2.5
ฝุ่น PM2.5

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ ฝุ่น PM2.5 มีองค์ประกอบของสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 7 ล้านคนต่อปี และช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังประกาศเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines: AQGs) ฉบับใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เพิ่มมาตรฐานการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปี ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ที่ 5 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ที่ 15 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าประเทศไทย 4-5 เท่า

กรมอนามัย แนะนำผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ประชาชนทั่วไปควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตหนองแขม และสมุทรปราการ (อ.เมือง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ

ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS)