พิษโควิด! ส่งผลคนไร้บ้านหน้าใหม่ พุ่ง 30-40% หลายฝ่ายเชื่อ “ห้องเช่าราคาถูก” ช่วยเพิ่มโอกาส ก่อนกลายคนไร้บ้านถาวร นัดหารือความเหมาะสม 29 ธ.ค.นี้ คาดได้ข้อสรุปหลังปีใหม่
วานนี้ (23 ธ.ค.64 ) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน จัดเวทีรับฟังเสียงคนไร้บ้าน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือคนไร้บ้านด้านที่อยู่อาศัย หรือการเข้าถึงห้องเช่าราคาถูกเพื่อคนไร้บ้าน
สมพร หาญพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า จากการสำรวจเครือข่ายคนไร้บ้านทั่วประเทศ ในช่วงการระบาดหนักโควิด-19 ระลอกที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มมากถึง 30-40% ปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการคุมโรค การปิดสถานประกอบการ กิจการต่าง ๆ ทำให้คนตกงานฉับพลัน รายได้น้อยไม่เหลือเก็บ มีภาระในชีวิตที่จำเป็นต้องรับผิดชอบหลายเรื่อง เมื่อเงินเหลือไม่พอ ก็จำเป็นต้องทิ้งห้องเช่า บ้านเช่า กลายมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ หากไม่ช่วยเหลือให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย หรือห้องเช่าราคาถูก ก็จะกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร ขณะที่คนไร้บ้านเดิมก็ต้องการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยเช่นกัน การผลักดันเรื่องห้องเช่าราคาถูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“คนไร้บ้านส่วนใหญ่สะท้อนตรงกัน หลัก ๆ อยากให้รัฐช่วยค่าเช่าครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องจ่ายให้ทั้งหมดก็ได้ เขาอยากมีส่วนช่วยเหลือตัวเองด้วย ช่วยให้เขาได้เก็บหอมรอมริบ เพื่อให้สามารถเช่าได้ระยะยาว และอีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป คือรัฐต้องมองไปถึงเรื่องจะทำยังไงให้เขามีอาชีพมั่นคงขึ้นด้วย”
สมโภช ชมพิกุล คนไร้บ้าน อายุ 52 ปี สะท้อนว่า เขาต้องมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือเป็นคนไร้บ้าน หลังการระบาดหนักโควิด-19 ระลอกล่าสุด เพราะตกงานขาดรายได้ แม้พยายามนำเงินเก็บที่หามาได้ เพื่อไว้จ่ายค่าเช่าห้อง แต่ด้วยภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิต ทำให้ไปต่อไม่ไหว ต้องหลุดออกจากห้องเช่า มาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ แม้ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีงานรับจ้าง งานก่อสร้างเข้ามาบ้าง แต่ไม่แน่นอน ยังไม่เพียงพอที่จะไปเช่าห้องได้ จึงยังต้องนอนในที่สาธารณะ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเรื่องห้องเช่าราคาถูกก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
“ไม่มีใครอยากมานอนในที่สาธารณะ ลำบากมากนะต้องนั่งรถจากหัวลำโพง ไปอาบน้ำแถวสะพานขาว 10 บาททุกวัน แล้วนั่งรถกลับมานอนนี่ และที่ต้องนอนแถวหัวลำโพง ก็เพราะนายจ้างเขาก็มาหาคนงานแถวนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือค่าเช่าห้องราคาถูก เช่น ออกให้เราครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเราออมจ่าย ก็จะทำให้เราไม่ต้องมานอนในที่สาธารณะแบบนี้”
ขณะที่ อนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ บอกว่า ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานและเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งที่ต้องหาทางช่วยเหลือให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัย โดยยอมรับด้วยว่า บางอย่างระเบียบทางราชการก็อาจจะยังมีข้อจำกัด แต่บทบาทภาครัฐไม่ใช่ว่าเอาระเบียบมาขึงทั้งหมด ต้องไปดูข้อยกเว้นซึ่งก็จะมีทางออก ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องไปหาทางช่วยเหลือให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัย ระยะยาวต้องมองเรื่องอาชีพที่มั่นคง สิทธิพื้นฐานต่างๆเช่นการเข้าถึงการมีบัตรประชาชน การเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐด้วย
“เรามีนัดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ และหลังปีใหม่น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าพี่น้องคนไร้บ้านมีกี่คน ต้องใช้พื้นที่ตรงไหนบ้าง ขนาดห้องเช่า และรูปแบบที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร”