ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ไม่ได้ไปต่อ ส.ส. ลงมติ ‘ไม่รับหลักการ’ ก้าวไกลผิดหวัง ส.ส.อภิปรายเหมือนเห็นด้วย แต่ลงมติสวนทาง ‘ประชาธิปัตย์’ ชี้ หากยกเลิกทั้งหมด ต้องศึกษาผลกระทบหรือไม่
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. … ที่เสนอโดย จอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,609 คน หรือ ‘กฎหมายปลดอาวุธคสช.’
และรวมถึงร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะเป็นผู้เสนอ เมื่อครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ ที่ประชุมได้ให้ลงมติในคราวเดียวกัน โดยที่ประชุมมีมติ ‘ไม่รับหลักการ’ ฉบับแรก ไม่เห็นด้วย 234 ต่อ 161 เสียง งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 จากจำนวนผู้ลงมติ 399 คน และฉบับที่ 2 ไม่เห็นด้วย 229 ต่อ 157 เสียง งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 391 คน
สำหรับร่างปลดอาวุธ คสช. ฉบับที่ 1 เริ่มต้นรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนำรายชื่อทั้งหมดและร่างฉบับนี้เสนอต่อสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรกที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนที่ได้เสนอต่อรัฐสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง แต่ระหว่างระยะเวลากว่า 2 ปี 5 เดือนที่ร่างฉบับนี้รอคิวการพิจารณา ประกาศและคำสั่งของ คสช. บางฉบับก็ถูกยกเลิกไปก่อน ทั้งการยกเลิกโดย คสช.เอง และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยกเลิก ยังเหลืออีก 17 ฉบับ ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่เรื่อยมาจนปัจจุบัน
ภายหลังการลงมติเสร็จสิ้น ส.ส. จากพรรคก้าวไกล นำโดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม, รังสิมันต์ โรม, จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แถลงว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่าในจำนวน ส.ส. 24 คนที่ร่วมอภิปรายนั้น มี ส.ส. จากพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลที่อภิปรายเพียง 1 คนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้อภิปรายในทางที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หรือกล่าวได้ว่าในสภานั้นไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. นี้เลย ทว่าการโหวตในครั้งนี้กลับเป็นการคว่ำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ราวกับลืมไปแล้วว่าอดีต ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลบางท่านเองก็เคยได้รับความเสียหายจากประกาศและคำสั่งของ คสช. ด้วย
ในขณะที่มุมของพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล และยังมีตัวแทน ส.ส. อย่าง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ครั้งนี้ โดยพูดในเชิงหลักการว่าคำสั่งที่เกิดขึ้นในยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นควรมีการยกเลิก แต่ควรมีการจัดหมวดหมู่ โดยเฉพาะในหลายคำสั่งที่มีการยกเลิกไปแล้ว และพรรคประชาธิปัตย์ยังมี ส.ส. จำนวนไม่น้อย ลงมติไม่รับหลักการในครั้งนี้ด้วย
ขณะที่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า หากยกเลิกคำสั่ง คสช. ไปพร้อมกันเลย จะมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะมีคำสั่ง คสช. บางฉบับที่มีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ ทางฝ่ายผู้เสนอไม่ได้เสนอให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายังมีกฎหมายฉบับใดบ้างที่มีความสำคัญสูงสุดสมควรยกเลิกไปเลย ซึ่งต้องมีการศึกษากันอย่างจริงจังอีกครั้ง