TPIPP จัดเวที ค.1 ออนไลน์วันที่ 2 ชี้แจงโรงไฟฟ้าและสวนอุตสาหกรรมจะนะผู้เข้าร่วมไม่ถึงร้อย

ตัวแทนในนามกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นพร้อมเสนอหากโครงการจ้างงาน สร้างอาชีพ บุตรหลานยินดีสนับสนุน ขณะที่ สวล.16 ย้ำอีกครั้งให้ประเมินผลกระทบโครงการดูความเหมาะสมและศักยภาพในเชิงพื้นที่

(12 ธ.ค.2564) วันนี้ บ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มหาชน เจ้าของโครงการและ บ. ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์จำกัด (ยูอีเอ) บ.ที่ปรึกษาที่ทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ยังคงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ผ่านระบบออนไลน์ โดยช่วงเช้าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา  ส่วนภาคบ่ายเป็นโครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ ตลอดทั้งวันมีคนเข้าร่วมไม่ถึง 100 คน

บ.ที่ปรึกษา ยูอีเอ ได้ชี้แจงรายละเอียด เกี่ยวกับการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลาขนาด 2,900 เมกกะวัตต์ โดยวัตถุประสงค์วันนี้ คือการรับฟังความคิดเห็น ว่าโครงการจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และผลดีผลเสียจากโครงการต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ศึกษาระยะ 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโครงการครอบคลุม 7 ตำบล ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  โดยระบุการประเมินผลกระทบครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสุนทรียภาพการท่องเที่ยว รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว

ด้านมุกดา จอกลอย สิ่งแวดล้อมภาคที่ 16  เสนอให้โครงการจัดทำประเมินผลกระทบในเชิงพื้นที่ ให้กำหนดอัตราการระบายที่จะปล่อยสู่ทะเล เพราะหากสูงมากอาจกระทบต่อสัตว์น้ำ เพิ่มรายละเอียดในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ การป้องกันการรั่วไหล และการควบคุมตรวจวัดสารอินทรีพย์ระเหยง่าย หรือ BOCซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

“อยากย้ำจุดยืนและความคิดเห็นอีกครั้งว่าควรมีการประเมินพื้นที่ศักยภาพการรองรับและความเหมาะสมเพื่อดูการรองรับมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากโครงการแบบภาพรวม” 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ตั้งข้อสังเกตว่า รายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ระบุในเอกสารการรับฟังความคิดเห็นมีน้อยเกินไป มีหลายคำถามที่ไม่ได้ลงรายละเอียดเช่น ทำไมต้องก่อสร้าง 2,900 เมกกะวัตต์ ทำไมไม่เป็น 3,000 ซึ่งมีผลต่อการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ละเอียดขึ้น เพราะต้องทำ EHIA 

“ ไฟฟ้าขายให้ประเทศ และเข้าสู่นิคมจะนะเท่าไหร่ ไม่มีรายะเอียดการใช้พื้นที่การก่อสร้างเอนเนอจี้ คอมเพล็ก และโครงการนี้ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษีในการจำหน่ายไฟฟ้า เหมาะสมหรือไม่ หากคนในพื้นที่รวมตัวในนามสหกรณ์สามารถจะมีหุ้นในการผลิตไฟฟ้าได้หรือไม่ หากเขาอยากเป็นคนเอาไปบริหารจัดการเอง”

นราดล ตันจารุพันธ์ ผู้ช่วยรองผู้จัดการ บ. ทีพีไอพีพี ชี้แจงว่า กำลังการผลิตคิดมาจากฐานแผนการพัฒนากำลังการผลิตในประเทศ หรือ PDP 2018 ซึ่งภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ 1,700 เมกกะวัตต์ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ใช้ไฟฟ้า 1,200 เมกกะวัตต์  ซึ่งกำลังการผลิตนี้คิดในฐานเพื่อการพัฒนาตามการก่อสร้างของนิคมจะนะเป็นช่วงๆ จึงคิดอัตรากำลังสูงสุด  ส่วนเอเนอร์จี้คอมเพล็กเป็นแผนระยะยาว ตอนนี้จะทำโรงไฟฟ้าเป็นหลักก่อน ขณะที่ บ .ที่ปรึกษา ชี้แจงว่า จะกลับไปทำเอกสารให้ครอบคลุม ลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น 

ส่วนช่วงบ่ายเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในโครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ ที่ตั้งโครงการครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา โดยตัวแทนบริษัทได้ชี้แจงข้อสรุปในการหารือเบื้องต้นจากข้อมูลที่มีการลงพื้นที่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 สรุปประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอเช่น ให้มีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและปิโตรเลียม เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนเป็นต้น 

ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ครั้งนี้ มีประชาชนเข้าแสดงความคิดเห็นในนามกลุ่มต่าง ๆ โดยตัวแทนที่เข้าร่วมวันนี้เห็นว่า โครงการจะส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานที่ดีให้บุตรหลานในอนาคตได้ ส่วนสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 ยังคงเสนอให้มีการเพิ่มรายละเอียดของโครงการให้ชัดเจน เช่น ดินที่นำมาถม นำมาจากไหน ตรวจสอบติดตามคุณภาพดิน หากมาจากดินที่ได้จากขุดท่าเทียบเรืออาจส่งผลต่อความเค็มของดินที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ระบบบำบัดน้ำเสีย แหล่งน้ำ ศึกษาผลกระทบเชิงลึกในรายประเด็นที่จะกระทบอาชีพ เช่น การเลี้ยงนกเขา 

“มีการถมดินเยอะมาก แหล่งดินที่มาขุดจากตะกอนท่าเรือน้ำลึก หรือเอามาจากไหน กังวลค่าความเค็มและผลกระทบจากการขุด และอยากให้ยืนยันว่าจะไม่ใช้แหล่งน้ำจากคลองธรรมชาติเพราะกังวลว่าปริมาณที่มีจะไม่เพียงพอ”

นครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ วิศวกรที่รับผิดชอบด้านการออกแบบสวนอุตสากรรมจะนะ ชี้แจงว่า อุตสาหกรรมที่จะสร้างผลกระทบในพื้นที่จะไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือสารเคมีเด็ดขาด ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการได้จัดหาแหล่งน้ำไว้รองรับถึง 2 แหล่งสามารถผลิตน้ำได้ 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะไม่มีการใช้น้ำหรือแย่งน้ำจากพื้นที่หรือคลองนาทับอย่างที่กังวล ส่วนการบำบัดน้ำเสีย คาดว่าจะมีน้ำเสียในกระบวนการผลิตจากกิจกรรมของโครงการ 25,300 ลูกบาศก์เมตรจะมีการติดตั้งระบบบำบัดของแต่ละโรงงานตามมาตรฐานกรมโรงงานก่อนปล่อยไปรวมยังส่วนกลาง ส่วนดินที่จะนำมาถมในการก่อสร้างโครงการได้มาจากการขุดดินทะเลจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นส่วนใหญ่ และหากไม่พออาจจะนำมาจากข้างนอก ซึ่งข้อกังวลเรื่องดินรั่วไหล หรือน้ำท่วม ทางโครงการได้เตรียมกั้นพื้นที่และใช้ที่ดินในส่วนนี้หลายร้อยไร่เพื่อรองรับเรื่องนี้ 


“โรงงานที่เป็นสารเคมีเพียวๆ เราไม่เอามา วัตถุดิบที่เป็นสารเคมี อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ต่อสิ่งแวดล้อมจะไม่รับ นี่เป็นนโยบายของเจ้าของโครงการ” 

สำหรับการเปิดรับฟังในวันที่ 2 บรรยากาศตลอดทั้งวันที่ผู้สื่อข่าวThe Active ได้ติดตามพบว่า ตลอดช่วงการชี้แจงมีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 100 คน และส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากฝั่งบริษัท หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้งถิ่น ขณะที่ประชาชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มาในนามของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเยาวชนพัฒนานาทับ 4 ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมกลุ่มสตรี ต.นาทับ กลุ่มเกษตรกรตำบลนาทับ และส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ สนับสนุนโครงการเพราะเห็นว่าจะเกิดการจ้างงานในพื้นที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส