เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยืนยัน”ปักหลัก” ใกล้ทำเนียบฯ รอฟัง มติ ครม.

13 ธ.ค. 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชนที่เดินทางมาสมทบ ตัดสินใจเดินเท้าเคลื่อนขบวนจากหน้า UN เพื่อไปปักหลักอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รอฟังผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ว่าจะมีการหยิบยกข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะเข้าพิจารณาหรือไม่ 

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการออกมาเคลื่อนไหวของ ไครียะห์ ระหมันยะ ที่ออกมานั่งทวงถวมสัญญา แก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการสภาฯ ในวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์กลับเริ่มรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมามีการสลายการชุมและจับกุมชาวบ้านถึง 37 คน จนนำมาสู่การตั้งหมู่บ้านหน้า UN

การเคลื่อนขบวนไปปักหลักหน้าทำเนียบฯครั้งนี้ เพื่อจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ว่าจะมีการนำข้อเสนอของ เครือข่ายฯไปร่วมพิจารณาในที่ประชุมหรือไม่ และไม่ได้มีเพียงแค่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเท่านั้น เครือข่ายจากภูมิภาคต่าง ๆ ก็มาร่วมในขบวนการครั้งนี้ด้วย

ซึ่งระหว่างการตั้งขบวนเพื่อเดินเท้าจากหน้า UN ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดการเจรจาต่อรองระหว่างแกนนำและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่หลายครั้ง

เวลา 14.50 “ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวทะเลจะนะ และผู้หญิง 44 คน ถือธงนำขบวนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ไปหน้าทำเนียบรัฐบาลผ่านทางสะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่มีตำรวจและ คฝ.จำนวนมากตั้งแถวรับ

เวลา 15.09 น. เจ้าหน้าที่ คฝ. ไม่เปิดทางให้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ผ่านสะพานมัฆวานฯไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยมีสมาพันธ์นักศึกษามุสลิมมาช่วยเป็นการ์ดดูแลชาวบ้าน การเดินขบวนไปทำเนียบฯ และแกนนำประกาศกฎ 3 ข้อ คือไม่ทำร้ายใครแม้จะเห็นต่างหรือเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ทำร้ายทรัพย์สิน และทำตามแกนนำบอกอย่างเคร่งครัด

ต่อมา 15.25 น. แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางเคลื่อนขบวนฯ เลี้ยวขวาจากสะพานมัฆวานฯ เลาะริมคลองไปตาม ถนนกรุงเกษม และยืนยันจะต้องไปปักหลักใกล้ทำเนียบฯมากที่สุด เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาล

15.59 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าสมทบ เดินมาตามเส้นทางถนนกรุงเกษม ตัดเข้ามาที่ถนนลูกหลวงเข้าสู่ถนนนางเลิ้ง ก็ยังพบ คฝ.ตั้งขบวนอยู่ที่สะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อสกัดไม่ให้ขบวนชาวบ้านไปปักหลักหน้าทำเนียบฯ แกนนำส่งตัวแทนเข้าเจรจากับตำรวจเพื่อขอผ่านทาง 

17.30 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าสมทบ เตรียมพื้นที่จุดแยกพาณิชยการ เพื่อปักหลักตั้งหมู่บ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงตั้งแนวบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อสกัดชาวบ้าน

ซึ่งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยังคงยืนหยัด ข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.รัฐบาลจะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้หรือ ศอ.บต. 

2.รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์หรือ (SEA) แบบมีส่วนร่วมโดยจะต้องออกแบบคณะศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และ 3.ระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการในข้อ 1 และข้อ 2 จะแล้วเสร็จ 

อีกทั้งเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน 37 คนที่ถูกตำรวจจับกุม เมื่อ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ (พีมูฟ) กล่าวว่าปรากฏการณ์รวมตัวกันของขบวนการภาคประชาชนครั้งนี้ เพราะเห็นถึงการแย่งชิงทรัพยากรโดยนายทุนซึ่งมีการร่วมมือกันกับรัฐบาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้คำนึงถึงพี่น้องชาวบ้านเลยและการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เพียงแค่เพื่อชาวจะนะเท่านั้นแต่รวมไปถึงในหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่กำลังเกิดปัญหาเดียวกัน 

“คือถ้าเราหยุดตรงนี้ไม่ได้ พื้นที่อื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปหมด สิทธิของชุมชน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมก็จะถูกทำลายหมด แม้แต่ MOU ที่ลงไปแล้ว ก็ไม่สนใจ บอกว่าไม่รับผิดชอบไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ให้ทีมงานลงไปดู ชาวบ้านขอเพียงแค่เข้าไปทำ SEA เท่านั้นเอง ตรงไหนได้ไม่ได้ก็คุยกัน แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจและปัดความรับผิดชอบ เขาใช้วิธีการยืนในการแก้ปัญหามากกว่า ไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหา”

ปิยะดา เด็นเก เครือข่ายสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้ หนึ่งในเครือข่ายที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในวันนี้ เล่าว่า การมาในครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่าในแต่ละชุมชนในแต่ละหมู่บ้านหรือจังหวัดได้รับความเดือดร้อนจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจมันไม่ใช่เพียงแค่ภาคใต้แต่เป็นปัญหาและเรื่องของประชาชนทั่วประเทศแล้ว

“ในส่วนของจะนะถ้าเกิดว่ามันเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา มันก็จะเกิดผลกระทบในเรื่องของประมงอันนั้นมันชัดเจนอยู่แล้ว พื้นที่การทำมาหากินของชาวประมงลดลง ยิ่งในช่วงมีการระบาดของ โควิด-19 ที่ทุกคนต้องกลับไปอยู่ในชุมชนมันยิ่งทำให้เห็นถึงการแย่งชิงทรัพยากร ท่องเที่ยวประมงอุตสาหกรรมมันไปด้วยกันไม่ได้ ยืนยัน 100% เลยว่ามันไปกันไม่ได้ เพราะพี่เคยไปดูที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแล้ว ไม่อยากจะให้ที่จะนะหรือที่อื่นๆมีบทเรียนอย่างนั้น อาชีพก็ต้องหายไปหรือวิถีชาวประมง ก็จะหายไปยิ่งคนที่จนอยู่แล้วมันก็ยิ่งจะทำให้เขาจนเข้าไปอีกแล้วจะเอาพวกเขาเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน”

นี่กำลังสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรนั้นไม่เป็นเพียงแค่ปัญหาเฉพาะพื้นที่แต่กำลังเป็นปัญหาระดับชาติหลายกลุ่มที่มาขับเคลื่อนในวันนี้ร่วมกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ต่างก็ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่กำลังจะแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่

การเคลื่อนขบวนของภาคประชาชนในวันนี้ มีนักวิชาการเข้ามาสังเกตการณ์ด้วย รวมถึง สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหานี้รัฐบาลควรตั้งสติ ตั้งหลัก เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับประชาชนนั้นกว้างขวางมาก และอาจขยายวงความขัดแย้งที่ร้าวลึกไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติให้ทำหนังสือถึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ให้ทบทวนโครงการนิคมอุตสหกรรมจะนะที่จะเกิดขึ้น 

“ จากที่คุยกันเรามีมติให้ยุติกระบวนการที่จะไปดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับโครงการนี้ เพราะเรากำลังได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการลักษณะนี้ จริงๆแล้ว กสม. ได้รับเรื่องไม่เพียงแต่จะนะ แต่ยังมีอีกหลายโครงการ เช่น โครงการผันน้ำยวม โขงเลยชีมูล เราได้รับการร้องเรียนมาตลอดในแง่ของการไม่มีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นบทเรียนในเชิงโครงสร้างในการที่จะดำเนินนโยบาย การบริหาร ของประเทศในการพัฒนาต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและนำสู่ความขัดแย้งอย่างร้าวลึก ”

และแม้ชาวบ้านจะสามารถปักหลักตั้งหมู้บ้านใกล้ บริเวณทำเนียบฯ แล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะส่งใครมาเจรจากับชาวบ้านในวันพรุ่งนี้หรือไม่ ขณะที่เครือข่ายชาวบ้านจะนะ ยืนยันว่าพรุ่งนี้หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี หากยังไม่มีความคืบหน้าในข้อเรียกร้อง และการแก้ปัญหาอย่างจริงใจจะปักหลักที่หน้าทำเนียบฯต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ