นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ตั้งคำถามจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านออนไลน์จะนับเป็น ค.1 ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หลังชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไม่ถึง ขณะตัวแทนบริษัท TPIPP ยืนยันหากชุมชนไม่เห็นด้วยพร้อมยุติโครงการ
(12 ธ.ค.2564) บ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์จำกัด (มหาชน) TPIPP บ.ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแตนท์ จำกัด UAE บ.ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 (ค.1)ต่อร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 โดยช่วงเช้ามีการชี้แจง 2 โครงการ คือ โครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา(EHIA)
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นด้วยระบบออนไลน์ ช่วงเช้ามีหลายภาคส่วนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 160 คน โดย บ.ที่ปรึกษาฯ จะเปิดให้คนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นลงชื่อและให้พูดทีละคน ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมไม่เห็นด้วยที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบนี้เพราะมีชาวบ้านเข้าไม่ถึงและแสดงความกังวลว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยแยกเป็นรายโครงการ 4 โครงการ ไม่เหมาะสม เสนอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือ SEA
อับดุลเลาะห์ ซาอุ๊ อดีตรองนายก อบต. ตลิ่งชัน กังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน สิ่งแวดล้อม และ อยากให้มีการประเมินระดับยุทธศาสตร์ และให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเวที
“ เวทีไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงนี้ เสนอให้ทำเอสอีเอให้เสร็จก่อน เราไม่ขัดการพัฒนาแต่ขอให้ประชาชน มีส่วนร่วม บูรณาการทั้งเศรษฐกิจ สังคม เข้าด้วยกัน”
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ตั้งคำถามต่อ บ.เจ้าของโครงการและ บ.ที่ปรึกษาว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบนี้ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร สอบถามไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีหรือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะสามารถนับเป็นเวที ค.1ได้หรือไม่ และเห็นว่าไม่ควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในเวลานี้ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งอยู่ กังวลจะเกิดปัญหาระยะยาว ขณะเดียวกันเห็นว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แยกเป็นรายโครงการไม่เหมาะสม เพราะทั้ง 4 โครงการเป็นโครงการเดียวกันที่จะส่งผลต่อภาพรวมของทั้งจังหวัดสงขลาและไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่าน้น
“เราอยากเห็นภาพรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับจะนะ สงขลา เพราะไม่กระทบแค่ 5-6 ตำบล แต่จะเปลี่ยนสงขลา ไปเป็นมาบตาพุด ระยอง หรือไม่ จากเดิมที่เคยใช้ฐานเศรษฐกิจ 4 ขา เกษตร อุตสาหกรรม การค้า ท่องที่ยว แต่ต่อไปนี้เป็นอุตสาหกรรมนำหน้า ดังนั้นเอสอีเอจึงสำคัญกว่าศึกษารายโปรเจค ขนาดโครงการควรเป็นขนาดไหน ไม่ใช่ตามที่ดิน ที่ซื้อได้ และการเปิดรับฟังความคิดเห็นวันนี้ จะนับเป็นเวที ค.1 ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
นราดล ตันจารุพันธ์ ตัวแทนจากทีพีไอพีพี เจ้าของโครงการ ชี้แจงว่า การจัดเวทีครั้งนี้ จะเรียกหรือไม่เรียกว่า ค.1 ก็ได้ แต่ทาง บริษัทต้องการรวบรวมความคิดเห็นของทุกคนเพื่อไปพิจารณาประกอบ หากประชาชนไม่เห็นด้วยต่อโครงการ บริษัทยินดียุติ
“โครงการนำเสนอนี้ อาจมาจากฝั่งเราทางเดียว แต่มีอีกข้อเสนอที่โครงการ และชุมชนอยู่ร่วมกันได้ ต้องกลับมาคิดกันไหม เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่เราจัดครั้งที่ 1 ให้ครบเพื่อ รวบรวม สรุป แต่สุดท้ายเห็นว่าโครงการหน้าตาแบบนี้ รูปแบบนี้ ไม่เหมาะ เราพร้อมยุติโครงการ ไม่ใช่แค่ยุติการทำอีไอเอ ซึ่ง 2-3 ชั่วโมงที่เราฟังกันมา มีผู้บริหารทุกระดับติดตามอยู่ด้วย”
ส่วนข้อเสนอที่ให้ทำการประเมินระดับยุทธศาตร์ในเชิงพื้นที่ ทางบริษัทที่ปรีกษาฯ ระบุว่า หากรัฐบาลมีมติให้ทำ ทางบริษัทก็ยินดีและยืนยันว่าทำทุกอย่างตามกฎหมาย
ส่วนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามแผนจะมีต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13-23 ธันวาคมนี้ และเปิดให้แสดงความคิดเห็นแบบรายโครงการโดยวันแรก จะมีอีก 2 โครงการ คือ ท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลา เป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบ EHIA และการจัดในรูปแบบออนไลน์เป็นรูปแบบที่ทาง สผ.ได้อนุญาตให้ทำได้ในกรณีเร่งด่วน ในกรณีที่มีสถานการณ์การระบาดหากจำเป็นต้องจัดเวทีเร่งด่วน และหากจำเป็นต้องจัดแบบให้คนมารวมตัวต้องขออนุญาตทางจังหวัดและเว้นระยะห่าง