เมื่อที่รกร้างกลางเมืองเชียงใหม่ กลายเป็น “สวนผักสาธารณะ” การันตีรางวัลระดับโลก

ถอดบทเรียนพื้นที่ต้นแบบ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พร้อมมองโอกาสขยายผลการพัฒนาพื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่อย่างมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย

“สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” หรือ Chiangmai Urban Farm ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 2.5 ไร่ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และภาครัฐ เปลี่ยนพื้นที่เคยรกร้างในเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา สามารถช่วยให้มีอาหารสำหรับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ แบ่งปันให้ผู้ที่สนใจให้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ สร้างคุณค่าให้แก่พื้นที่และสร้างเสน่ห์ให้กับเมืองเชียงใหม่ได้อย่างน่าสนใจ เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง สร้างแหล่งอาหารสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม

สร้างแรงบันดาลใจและเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งพิสูจน์ได้จาก การที่สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ได้รับ 2 รางวัลใหญ่ จากงาน Placemaker Awards ASEAN 2021 คือ รางวัลสูงสุด Placemaker of the Year 2021 และ Placemaker during the pandemic ซึ่งเป็นรางวัลด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะระดับอาเซียน ณ เวทีงาน City Expo Malaysia 2021 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองและชุมชน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา 

13 ธ.ค. 2564 – เวทีสาธารณะ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ การใช้พื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองและชุมชน” ร่วมกันถอดบทเรียน แนวคิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และโอกาสของการยกระดับเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเอง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างเท่าเทียม

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เริ่มต้นจากเงินบริจาค จากประชาชนจำนวน 20,000 บาท และแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินรกร้าง สู่การประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่และการขออนุญาตใช้พื้นที่จนเกิดความสำเร็จในวันนี้

แต่กลับพบว่ามีอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาพื้นที่และดำเนินการต่อในอนาคต คือ ที่ดินผืนนี้ถูกระบุว่าเป็นที่สุสาน กรรมสิทธิ์ของกระทรวงมหาดไทย แม้ว่าการเอามาทำเป็นสวนจะให้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่ผิดเงื่อนไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทำให้และทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่จากเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่

“เราจะทำให้ที่ดินรกร้างของรัฐถูกนำมาใช้และพัฒนาอย่างถูกต้องได้ยังไง เพราะทุกวันนี้เทศบาลไม่ได้เป็นเจ้าของโดยชอบธรรม จึงไม่สามารถให้เงินสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ก่อนอื่นจึงต้องทำให้ที่ดินนี้ถูกเอามาใช้ได้อย่างถูกต้อง พร้อมการวางแผนการจัดการให้เข้าสู่การใช้และการเข้าถึงพื้นที่ รวมถึงการมีงบประมาณในการสนับสนุน อย่างเช่น การเอางบฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 มา สนับสนุน ทั้งนี้ยังต้องอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของรัฐและพร้อมที่จะเอาที่ดินรกร้างแปลงอื่นขึ้นมาสร้างประโยชน์”

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า หากสามารถนำต้นแบบพื้นที่แห่งนี้เสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐเพื่อที่จะให้นายกรัฐมนตรีรับรู้และเห็นประโยชน์สาธารณะ อาจจะช่วยนำไปสู่การอนุมัติเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคได้ รวมไปถึงผลักดันการพิจารณาให้นโยบายการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างมาสร้างประโยชน์เป็นแหล่งอาหารให้กับคนเมืองควรที่จะถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ที่กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้

“นี่เป็นหนทางที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะเงินกู้หลายแสนล้านอาจไม่นำไปสู่การผลิตจริง แต่สวนแห่งนี้เป็นการให้ประโยชน์กับผู้คนได้อย่างแท้จริง ควรถูกนำไปพิจารณาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 ให้ระบบเศรษฐกิจของแต่ละเมือง เพื่อที่จะช่วยทำให้สร้างฐานสำคัญเกื้อหนุนคนจนในประเทศไทย”

วิชัย นะสุวรรณโน ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคเหนือ มองว่า ต้นทุนหรือมูลค่าที่เกิดขึ้นบนสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ยังสอดรับกับการแก้ปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ทั้งวิกฤตโรคระบาด และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และมองว่าเชียงใหม่ ยังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าแบบนี้อยู่อีกมาก ที่ควรจะนำมาใช้ประโยชน์สาธารณะได้มากขึ้น รวมไปถึงที่ดินของเอกชน หากสามารถเอามาใช้ประโยชน์สาธารณะได้ จะเป็นการลดภาษีด้วย

“ควรที่จะมีการมองที่ดินภาพรวมและวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของการจัดการ และมีเทศบาลให้การสนับสนุนแทน หากว่าเราเจอที่ดินว่าง ควรจะชวนชุมชนมาคิดว่าเราจะทำอะไรกันได้บ้าง”

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ระบุว่า อาหารคือเรื่องใหญ่ของคนมีรายได้น้อย เพราะเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ของคนมีรายได้น้อย คือ รายจ่ายด้านอาหาร และพืชผักเองก็ควรมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ดังนั้น สิ่งที่สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ได้ทำจึงตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนได้อย่างชัดเจน

พร้อมอธิบายว่า ทั่วโลกมีการปรับตัวด้านอาหารครั้งใหญ่จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ผู้คนหันมาปลูกผักกินเองมากขึ้น หาวิธีการพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ในกรุงเทพฯ ก็มีความพยายามปลูกผักในพื้นที่เมือง เพราะที่ดินเพียง 20 ตารางวา สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนได้ทั้งปี

“รัฐ เอกชน มีที่ดินมากมาย ทำไมเราไม่เอาสิ่งนี้มาตอบคำถามของผู้คน ปัจจัย ที่ดิน ความร่วมมือ คือเรื่องใหญ่ที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ตอนนี้ได้ไม่ ไม่ใช่แค่งบประมาณเท่านั้น แต่เราจะต้องให้โอกาสให้คนเปราะบางได้มีโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่แหล่งอาหาร ที่ผ่านมามีการศึกษา 10 ตลาดขายผักทั่วประเทศ พบว่า ขั้นต่ำรายได้ของตลาดนัด มีราคานัดละ 80,000 บาท รวมแล้วเฉลี่ย 50-60 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าจะเห็นได้ว่าหากมีการส่งเสริมการสร้างอาหารและการขายผ่านตลาดก็เท่ากับเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมาก โดยที่เม็ดเงินเหล่านี้ไม่ได้ไปตกอยู่กับเจ้าสัว แต่มาอยู่กับประชาชน”

รศ.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษา สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี มองว่า อุปสรรคสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ เช่น สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ คือเทศบาลไม่มีอำนาจให้การจัดการเพียงพอ เทศบาลนครเชียงใหม่มีอำนาจจำกัด โดยมีหน้าที่เพียงดูแลรักษา แต่ไม่มีอำนาจในการยินยอมให้ผู้อื่นมาให้ประโยชน์พื้นที่ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมที่ดิน และผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ ทำให้นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลับไม่มีอำนาจที่จะดำเนินนโยบายตามข้อเรียกร้อง

“ต้องยกเลิกเงื่อนไขข้อจำกัดใน แก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ที่จำกัดให้เทศบาลไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้คนอื่นใช้ประโยชน์ในพื้นที่เทศบาล และให้ใช้ช่องทางตามกฎหมายกระจายอำนาจ ให้นายกเทศมนตรี หรือ อปท. สามารถมีอำนาจให้ที่ดินในการดูแลได้ อาจให้มีการตั้งสันนิบาต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชนชน ผลักดันสู่การพิจารณาที่ดิน และอีกแผนคือการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัด จากนั้นเทศบาลอาจจะจัดการระดมความคิดในการพัฒนาพื้นที่นี้ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนนี้ เช่น หากมีการพิจารณาแผนนี้ก็อาจจะสามารถประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อมก็ได้”

เรื่องราวเล่าเหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่น ๆ อยากจะพัฒนาให้กลายเป็นสวนผักประจำชุมชนเช่นกัน วชิรา วชิรนคร ประธานชุมชนพัฒนาบ้านกู่เต้า เล่าว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ชาวชุมชนวัดกู่เต้าได้มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองแบบนี้ จึงได้สำรวจและพบพื้นที่ว่างเปล่า ด้านหลังวัดกู่แดง จึงมองว่าควรจะได้รับการพัฒนาในการปลูกพืชเกษตร เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้

ด้าน อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รกร้าง ทั่วเมืองเชียงใหม่ ผ่านการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ส่วนหนังสือสำคัญที่หลวง ที่จะต้องให้กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถส่งเสริม ยกระดับ และพัฒนาพื้นที่สวนผักคนเมืองแห่งนี้ได้มาก ขณะนี้ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน

“ตอนนี้เราได้ส่งเอกสารนำเรื่องพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ผ่านกรมที่ดิน ก่อนส่งถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาตามลำดับ โดยมีความดีใจที่ได้รับคำแนะนำจากวิทยากรหลายท่านในการสร้างกลไกการบริหารจัดการ และแนวทางส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมืองโดยเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่อยู่แล้ว มีเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้ได้ใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพ”

สำหรับ เวทีสาธารณะ“สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ การใช้พื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองและชุมชน” จัดขึ้นที่สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันของ ฝ่ายพัฒนาภาคีภูมิภาค สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ และ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายองค์กรเพื่อขับเคลื่อน โครงการส่งเสริมและขยายผลการจัดการพื้นที่สาธารณะในเมืองให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้