ตัวแทน ก.ศึกษาฯ รับข้อเสนอ”ห้องเรียนปลอดฝุ่น”เตรียมนำร่อง 8 จังหวัดภาคเหนือ

เวทีสาธารณะ “Safety Zone โรงเรียนปลอดฝุ่น” ระดมข้อเสนอกระทรวงศึกษาธิการ เร่งสร้างหลักสูตร การเรียนการสอนตระหนักถึงการดูแลตัวเองช่วงฤดูฝุ่น สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นและคืนอากาศบริสุทธิ์ให้เด็กๆ ได้มีพัฒนาการตามวัย ขณะตัวแทน ก.ศึกษาฯ รับสานต่อ เตรียมประกาศเป็นวาระแห่งชาติวันเด็กปี 2565 

(11 ธ.ค.2564) The Active มูลนิธิไทยพีบีเอส ร่วมกับอีกหลายภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ “Safety Zone โรงเรียนปลอดฝุ่น” พูดคุยถึงสภาพปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเกิดวิกฤตหมอกควัน และร่วมระดมข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมรับมือก่อนถึงฤดูหมอกควันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยมีตัวแทนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานในพื้นที่ร่วมเวที 

นพ.เผ่าพงศ์ สุนทร ผอ.โรงพยาบาลลี้ ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ระบุว่า อำเภอลี้มีประชากร  7 หมื่นคน มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากกหมอกควัน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 15,000 คน ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง  800 คน โรคหอบหืด 200 คน และระบบหัวใจหลอดเลือด 500 คน หากดูสถิติการรักษาย้อนหลังตั้งแต่ ปี 2559-2563 จำนวนครั้งที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อมีการรณรงค์ในปี 2559 ประกอบกับมีการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการใส่หน้ากาก พบว่า 3 ปีย้อนหลังผู้ป่วยกลุ่มนี้ เข้ารับการรักษาลดลงจาก 20,000 ครั้ง เหลือ 15,000 ครั้ง และปีนี้เหลือ 11,000 ครั้งต่อปี

“สถิติถือว่าลดลงในพื้นที่ แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ยังสูง โดยเฉพาะใน ต.ก้อ เป็นพื้นที่รุนแรงที่สุดเพราะเป็นแอ่งกะทะ กลุ่มเสี่ยงมีอาการกำเริบ หอบหืด ผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง รับการรักษาเพิ่มขึ้น 

เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมพีคสุดมีนาคม และ เมษายนจะเริ่มลดลง”

สอดคล้องกับข้อมูลการตรวจสุขภาพเบื้องต้นของคนในพื้นที่วันนี้ (11 ธ.ค.) โดย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ รพ.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประชาชนที่ทำงานอยู่ด่านหน้าในการสัมผัสหมอกควัน พบความผิดปกติของปอดเกินครึ่ง แต่มีหลายปัจจัยที่ต้องวิเคราะห์ร่วม โดยเฉพาะ พบว่ามีการสูบบุหรี่สูง ส่วนเด็กๆ ตรวจพบอาการภูมิแพ้หรือโรคทางเดินหายใจส่วนบน แต่หากไม่ได้รับการรักษาหรือยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หมอกควันสูง จะส่งผลให้เกิดโรคหอบหืดได้สูงกว่าปกติถึง 5 เท่า และพบโอกาสการเกิดในวัยที่ยังน้อยตั้งแต่ 30 ปีซึ่งปกติแล้วจะเกิดขึ้นในวัย 50 ปีขึ้นไป 

“จากนี้เราจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลลี้ ถ้าผู้ป่วยที่ต้องกินยาก็ให้รักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล แต่บางกรณีที่จำเป็นต้องใช้แพทย์ เครื่องมือเฉพาะทางเราจะติดตามต่อ และข้อมูลทั้งหมดวันนี้ก็จะเป็นการทำงานต่อเนื่องในระยะยาวส่งข้อมูลทางสุขภาพทั้งหมดให้พื้นที่และยังคงติดตามดูแลในระยะยาวอย่างจริงจัง”

ตัวแทนจากเครือข่ายในพื้นที่ สะท้อนว่าที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่แหล่งกำเนิดมีความพยายามของทุกฝ่ายเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่จริงจัง ขณะที่ฝุ่นที่แหล่งกำเนิดโดยเฉพาะการเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ที่เป็นปัญหาหลักในพื้นที่ภาคเหนือจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง หนึ่งในรูปธรรมที่เริ่มเห็นชัดเจน เมื่อนักวิชาการในพื้นที่ได้คิดโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเสริมเข้ามา เพื่อเน้นให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงอันตรายจากฝุ่น ตลอดจนการรู้จักแหล่งกำเนิดต่างๆ  และการหาแนวทางแก้ปัญหา

ตัวแทนโรงเรียนบ้านแม่หล่ะป่าป๋วย จ. แพร่ โรงเรียนต้นแบบระบุว่า โรงเรียนได้ดำเนินการตามหลักสูตรและมีคู่มือในการฏิบัติเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หวังว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้เกิดผลในระยะยาวที่ได้รับการสนับสนุนทั้งอุปกรณ์ งบประมาณ และยกระดับหลักสูตรจากหลักสูตรเสริมเป็นหลักสูตรหลัก

ขณะเดียวกันทางไทยพีบีเอสได้นำร่องสร้าง ห้องเรียนปลอดฝุ่น ให้กับโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ต.ก้อ อ.ลี้ จ. ลำพูน 2 ห้อง เพื่อเป็นต้นแบบของห้องเรียนที่ปลอดภัยในการรับมือหมอกควันในช่วงวิกฤต ซึ่งการพูดคุยในเวทีครั้งนี้มีการหารือถึงแนวทางเพื่อผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริงในระดับนโยบาย 

ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานยุทธศาสตร์นโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า มองเห็นโอกาสขยับในการต่อยอดทั้งเรื่องหลักสูตร และ ห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยจะขยายใน 8 จังหวัดภาคเหนือก่อน ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมเมื่อมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติบังคับใช้จริงจัง

“พ.ร.บ. ออกกลางปีหน้า สิ่งที่ทำได้ไม่ต้องรอคือเอาข้อมูลนี้ไปอธิบายกับฝ่ายนโยบาย ผู้บริหารเลขา สพฐ.กำกับพื้นที่ที่เสี่ยงจุดไหนเชื่อมไปให้ยั่งยืน  จะทำให้มันเกิดขึ้น 8 จังหวัด ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ” 

ในเวทีฯ ได้ข้อสรุปร่วมกันในการเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ 5 แนวทาง คือ เพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้ การติดตามสุขภาพระยะยาว การป้องกันสุขภาพของเด็กๆ ทำห้องปลอดภัย หน้ากากอนามัย การสนับสนุนงบประมาณ และการคืนอากาศสะอาดให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามวัย ซึ่งตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าจะประกาศเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติในงานวันเด็กปีหน้า  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส