พบกลุ่มเป้าหมาย ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ผู้สูงอายุ เด็ก จ.ลำพูน ป่วยด้วยโรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เตรียมต่อยอดผลการวินิจฉัยใช้กําหนดแนวทางในการดูแลและช่วยเหลือ แก้ปัญหาฝุ่นในระยะยาว
วันนี้ (11 ธ.ค.2564) ไทยพีบีเอส ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และภาคีเครือข่าย จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ตรวจสุขภาพเชิงลึก ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดลำพูน ณ โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อ.ลี้ จ.ลำพูน
การตรวจในครั้งนี้ตั้งเป้าไปที่กลุ่มเสี่ยงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ เด็ก คนชรา ผู้มีโรคเรื้อรัง และชุดปฏิบัติการดับไฟป่าจำนวน 1,000 คน ซึ่งก่อนเข้ารับการตรวจจะต้องผ่านขั้นตอนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK จุดลงทะเบียนซักประวัติ ก่อนจะเข้ารับการตรวจสุขภาพที่ประกอบด้วย จุดทดสอบสมรรถภาพปอด จุดเอกซเรย์ปอด จุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และฟังคำวินิจฉัยจากแพทย์ สั่งจ่ายยา หรือส่งต่อโรงพยาบาลลี้
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อํานวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงผลการตรวจในช่วงเช้าจำนวนกว่า 200 คน ระบุว่า พบกลุ่มตัวอย่างในจุดเอกซเรย์ปอดมีลักษณะเป็นฝ้าขาวเล็กน้อยจนถึงมาก บางรายมีพังผืด หินปูน เกาะที่ต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคจากการทำงาน แต่ยังต้องส่งต่อโรงพยาบาลเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ขณะที่เกือบทั้งหมดมาด้วยอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ภูมิแพ้
“จากการสัมภาษณ์เราได้รู้ว่าประชาชนคิดว่าการไอ จามเป็นเรื่องปกติ หรือหลายรายไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปีเลย สิ่งนี้สำคัญอย่างมากต่อผู้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่มลพิษเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ง่ายจากโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ฯลฯ หรือแม้แต่เด็กๆ ที่ส่งผลระยะยาว เช่น ติดเชื้อทางเดินหายใจ หอบหืด ส่งผลต่อพัฒนาการ การตรวจพบแบบกลุ่มใหญ่ก็อาจจะทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวกับเรื่องนี้”
หนึ่งในชุดปฏิบัติการดับไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กล่าวกับ The Active ว่า รู้สึกดีใจที่จะได้ตรวจสุขภาพ เพราะตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่มา 20 ปี เคยตรวจไปเพียง 1 ครั้ง ส่วนตัวมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหลตลอดเวลา และเหนื่อยหอบเมื่อต้องออกลาดตระเวนดับไฟป่า แต่ไม่สามารถละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำได้เพียงใส่อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นควัน และระมัดระวังให้มากที่สุด
โดยผลตรวจสุขภาพในพื้นที่ จ.ลำพูน จะถูกรวบรวมเป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนงานป้องกันและดูแลสุขภาพเด็กและกลุ่มเปราะบางจากฝุ่นควัน ในพื้นที่ภาคเหนือด้วยการนําข้อมูลเชิงประจักษ์ไปกําหนดแนวทางในการดูแลและช่วยเหลือในระยะยาว และยังสามารถนําไปวางแผนนโยบายการจัดการกับปัญหา รวมถึงเตรียมวิธีการป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้สามารถรับมือกับปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ในพื้นที่ต่อไป