นักวิชาการ แนะรัฐรับแรงงานข้ามชาติเข้าระบบเชิงรุก

นายกรัฐมนตรี สั่งเข้มสกัดลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หวั่น “โอมิครอน” ระบาด ด้านนักวิจัยแรงงาน แนะหน่วยงานรัฐบูรณาการ ตั้งจุดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ชายแดน แทนตั้งด่านสกัดลอบเข้าเมือง 

ในระหว่างที่ไทยกำลังเร่งติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงที่พบการติดเชื้อ ล่าสุดพบว่ายังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย 252 คน โดยติดตามมาเพื่อตรวจ RT-PCR แล้ว 11 คน ที่เหลือส่ง SMS ไปแจ้งเตือนให้กลับมาตรวจซ้ำ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจสถานการณ์ และมีความห่วงใย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้าน สาธารณสุข ความมั่นคง คมนาคม การท่องเที่ยว เฝ้าระวัง และกลั่นกรองเป็นพิเศษไม่ให้เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้าประเทศไทยได้ พร้อมสั่งการฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ เร่งสกัดการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายทุกช่องทาง เพื่อปิดกั้นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 

แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงสามารถจับกุมการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายได้เฉลี่ยวันละ 200-300 คน รวมแล้วเดือนที่แล้วสามารถจับกุมผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองได้ 12,255 คน 

ด้าน นางสาวชลนภา อนุกูล นักวิจัยสมทบ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าที่ยังมีการหลบหนีเข้าเมือง เนื่องจากยังมีความต้องการแรงงานภาคธุรกิจทั้งขนาดย่อย ขนาดกลาง เป็นจำนวนมาก แต่กระบวนการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีความซับซ้อนมากเกินไป มีต้นทุนสูงและแพงเกินไป สำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้นหากต้องการป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย อาจต้องแก้ที่ต้นทางคือกระบวนการรับแรงงานข้ามชาติ ของหน่วยงานราชการ ที่ต้องทำแบบลักษณะ One Stop Service บูรณาการกันทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รับแรงงานเข้าสู่ระบบเชิงรุก จะช่วยป้องกันโรคและแก้ปัญหาแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายได้พร้อมกัน

นักวิจัยด้านแรงงาน ยังบอกอีกว่า หากดูจากบทเรียนการระบาดรอบสองที่สมุทรสาคร มีจุดเริ่มต้นจากแรงงานข้ามชาติ แต่ในเวลานี้บริบทก็เปลี่ยนไป การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ หากเกิดขึ้นในประเทศไทยอาจรับมือได้ดี จากต้นทุนทางสุขภาพ เช่น การฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ควรมีแผนเผชิญเหตุ หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด ควรต้องบริหารทรัพยากรอย่างไร เพื่อรับมือ

รัฐระบุโอมิครอนอาการไม่รุนแรง 

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน อาการเบื้องต้นไม่พบความแตกต่างบางรายงานระบุมีอาการปวดกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ไม่สูญเสียการรับกลิ่น/รส อาการไม่รุนแรง แต่การแพร่ระบาดคาดว่จะเพิ่มขึ้นแทนที่สายพันธุ์เดลตา ในแอฟริกาแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า วัคซีนยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ ผลต่อภูมิคุ้มกัน อาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ อย่างมีนัยสำคัญ พบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สูงขึ้น 

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่ง ระบุว่า จากการตรวจ ไวรัสในลำคอ พบว่าปริมาณไวรัสในผู้ป่วยถึงแม้จะอาการน้อย ก็พบปริมาณไวรัสจำนวนมาก ที่จะแพร่กระจายต่อไปได้ง่าย และ ถ้าโควิดโอมิครอน ติดง่าย แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาการกระจายของสายพันธุ์ใหม่ ก็จะเข้าแทนที่สายพันธุ์เดลตาอย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS