องค์กรภาคประชาชนหลายเครือข่าย ตบเท้าจัดกิจกรรม สะท้อนข้อกังวล CPTPP เรียกร้อง นายกฯ ยุติเรื่องนี้ถาวร ล่าสุดเตรียมพร้อมหารือร่วม กนศ. 20 ธ.ค.นี้
ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ ส่งหนังสือ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ถึงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) โดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ( กนศ.) ขอเชิญกลุ่ม FTA WATCH เข้าพบเพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น
ล่าสุดกลุ่ม FTA WATCH ทำหนังสือถึง กนศ.ตอบรับร่วมการหารือ ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ในหนังสือระบุด้วยว่า ทางกลุ่มฯ ต้องได้รับความมั่นใจว่า ข้อมูลและข้อเสนอขององค์กรภาคประชาชน จะต้องได้รับการนำไปผนวกรวมเป็นเนื้อหาสำคัญ ที่คณะรัฐมนตรี จะพิจารณาประกอบการตัดสินใจในกรณี CPTPP พร้อมทั้งขอให้ กนศ. เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศไทย ที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญเข้าร่วม CPTPP สภาผู้แทนราษฎร นำมาประกอบการหารือด้วย
ขณะที่เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.64) กลุ่ม FTA WATCH และองค์กรภาคประชาชนหลายเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “ความฉิบหายจะมาเยือน Say No to CPTPP บอกแล้วไม่เอา CPTPP
สะท้อนถึงความห่วงกังวล และผลกระทบ ที่ประชาชนจะได้รับหากรัฐบาลไทย เข้าร่วมความตกลง CPTPP ผ่านหลากหลายนิทรรศการ ทั้งเรื่อง เมล็ดพันธุ์รากฐานสังคม, ขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต, ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ นโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน
เครือข่ายภาคประชาชน ยังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ สาระสำคัญ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติการเดินหน้าพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP พร้อมให้รับฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านเรื่องนี้ มานานร่วม 2 ปี
ทั้งยังต้องการเห็นการตัดสินใจของรัฐบาล ที่เห็นผลประโยชน์ของประชาชน มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรม ที่อาจนำไปสู่การทำลายความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การเข้าถึงยา การสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศ และต่างชาติ
ในแถลงการณ์ครั้งนี้ ยังระบุถึง ข้อกังวลดังต่อไปนี้
1. การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึง
- ต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยตัดหลักการขออนุญาตเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ เปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของท้องถิ่น
- ตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็อาจมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท
- ขยายอำนาจการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ให้รวมไปถึงผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปซึ่งผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพรด้วย
- สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหาร เพราะอาหารที่ผลิตได้มาจากการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผูกขาดของบริษัท นำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเกษตรเดิมของไทยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
- เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่เราปลูกอยู่อาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721 – 142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183 – 114,394 ล้านบาท/ปี
2. CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (remanufactured goods) โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิคส์ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการพิกัดศุลกากรที่แยกประเภทสินค้าเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำชัดเจน ไม่มีหน่วยราชการหรือหน่วยตรวจสอบที่มีขีดความสามารถในการตรวจสอบรับรอง และขาดรายละเอียดในเชิงข้อกำหนดของการจัดการของเสีย/ของหมดอายุเมื่อสินค้าเหล่านี้หมดอายุไป ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
3. CPTPP ยังมีบทว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน
4. ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89% และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันที เพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปีให้กับประชาชน