โจทย์ใหญ่แก้จน ‘1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือน’ ถ้าจะทำ ต้องเริ่มอย่างไร

‘นักวิชาการ – นักวิจัย’ เสนอนโยบายแก้จน สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่แบ่งแยกจนรวย หาแหล่งเงินทุน ไม่ค้ำประกัน กระจายอำนาจ งบประมาณลงท้องถิ่นให้มากที่สุด ฟันธงปี 64 คนจนเพิ่มขึ้นแน่

1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือน แนวคิดดี แต่ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ?  

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า หากต้องการทำงานเชิงรุกในพื้นที่นั้น นโยบายเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็เคยทำในลักษณะเดียวกันมาแล้ว เช่น ตอนทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีแนวคิดให้มี Account Officer ที่เป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐ ทำหน้าที่สำรวจ ทำความรู้จักกับคนจน เพื่อสะท้อนความต้องการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง  

ในขณะเดียวกันหากจะทำนโยบายนี้ สมชัย มองว่า รัฐบาลอาจต้องประเมินกลไกที่ตนเองมีอยู่ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำเรื่องนี้มาก่อนในลักษณะ Case Manager ที่ติดตามเป็นรายกรณีที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ ในกลุ่มคนเปราะบาง และคนยากจน เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ไอเดียเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่เคยทำมาแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องตั้งคำถาม คือ เหตุใดของเก่าจึงไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้  มีอุปสรรคปัญหาใด และที่ผ่านมาได้มีการถอดบทเรียนกันอย่างจริงจังหรือไม่

ปัญหาที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ข้าราชการและผู้ดำเนินนโยบาย ปรับวิธีคิดของการช่วยเหลือคนจนหรือยัง ? การทำความเข้าใจผู้อื่น ไม่สามารถใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงได้ การให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมบ้านเรือนประชาชน พูดคุยเพียงเวลาไม่นาน ไม่อาจทำให้เราเข้าใจพวกเขาได้จริง ๆ เจ้าหน้าที่ต้องกระตือรือร้น อยากช่วยเหลือ อยากเข้าใจชีวิตของผู้อื่น และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาพอสมควร

Active Talk

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) กล่าวว่า จากการรายงานการศึกษาระดับนโยบายของหลายประเทศ พบว่า การทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยกระบวนการลงไปเกาะติด สะท้อนปัญหา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี คำถามสำคัญ คือ รัฐบาลจะทำได้กี่ปี ? เพราะปัญหาความยากจนของแต่ละคนนั้นมีความหลากหลาย ล้วนอยู่บนความไม่แน่นอนในชีวิตค่อนข้างสูง ทั้งจากภัยพิบัติ ราคาสินค้าการเกษตร และรายได้จากการประกอบอาชีพ

นอกจากนั้น ปัจจุบันมีข้อมูลหลากหลาย ที่รัฐบาลสามารถนำมาทำความเข้าใจคนจน และแก้ไขปัญหาได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการลงไปรับฟังจากประชาชน ปัญหาร่วมกันของคนจนจำนวนไม่น้อยมีอย่างน้อย 3 ปัญหา คือ 1. คนจนล้วนมีอัตราการพึ่งพิงสูง หมายความว่า พึ่งรายได้และการช่วยเหลือจากคนในครอบครัว หรือสวัสดิการของรัฐ 2. คนจนเกี่ยวพันกับความไม่แน่นอน ด้านรายได้ ส่วนใหญ่ของผู้มีรายได้น้อย เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ 3. ภาระหนี้สินของคนจน โดยพบว่า 10% ที่จนที่สุด เป็นหนี้สินภาคเกษตร และรายได้สุทธิต่อปี ยังน้อยกว่าเงินที่ต้องชำระหนี้ในปีนั้น หากรัฐบาลทราบปัญหาเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เบื้องต้น โดยไม่ต้องเพิ่มขั้นตอนการทำงาน

ในขณะที่ รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ไม่สามารถตอบได้ว่าดี หรือไม่ดี แต่เห็นความพยายามของรัฐ ที่อยากให้ข้าราชการไปใกล้ชิดประชาชน เพื่อรับฟังปัญหา แต่ในฐานะที่ตนทำงานในระดับพื้นที่ ย้ำว่ามีข้าราชการ ที่มีใจที่อยากช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ไม่น้อย แต่หากจะเริ่มนโยบายดังกล่าว อาจมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่ 3 ประการ คือ 1. การปรับวิธีคิดของข้าราชการ โดยไม่ให้มองคนจนเป็นภาระ แต่คนเหล่านี้เป็นผู้มีพลัง โดยไม่ยึดติดกับเรื่องของการ ‘สงเคราะห์’ เท่านั้น

2. ต้องปรับกฎระเบียบ ของข้าราชการที่ ‘แข็งทื่อ’ โดยปรับให้มีความยืดหยุ่น และสามารถทำงานได้จริงในทางปฏิบัติ เนื่องจากหากกฎระเบียบไม่เอื้อต่อการทำงาน ย่อมทำให้เกิดอุปสรรค ทั้งเรื่องของงบประมาณ ที่ยังคงเน้นเอกสาร หลักฐานมากเกินไป จนมองข้ามการแก้ปัญหาเชิงคุณภาพ และเน้นเพียงการแก้ปัญหาเชิงปริมาณ

3. ข้าราชการไม่สามารถแก้ปัญหาความจนให้กับประชาชนได้เพียงคนเดียว แต่ควรมีบทบาทต่อการเชื่อมประสานความร่วมมือกับ หน่วยงานในระดับพื้นที่ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน องค์กรชุมชน ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

คนจนตกสำรวจ ปัญหาที่ต้องได้รับการทบทวน

สมชัย กล่าวว่า ทุกครั้งเมื่อรัฐบาลจะทำนโยบายใด แล้วแบ่งแยกว่าใครเป็นคนจน หรือคนรวย มักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ จะมีคนจนอีกครึ่งหนึ่งที่ตกสำรวจ จากการแบ่งแยกความจนของภาครัฐ โดยที่รัฐบาลไม่เรียนรู้จากการจัดทำนโยบายของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จว่า การลดความผิดพลาดจากการสำรวจกลุ่มคนจนที่ได้ผลที่สุด คือ การให้แบบถ้วนหน้า โดยไม่แบ่งแยก

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ‘คนจนจริงไม่ได้ คนที่ได้ กลับไม่จน’ เป็นการจัดทำนโยบายที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจาก คนจนจริง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ มีคนจนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังตกสำรวจ และไม่ได้รับสวัสดิการที่เขาควรได้รับ

กนกวรรณ มะโนรมย์

รศ.กนกวรรณ กล่าวว่า ตนทำวิจัยและลงพื้นที่ไปที่จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมกับตัวเลขที่ได้จากฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ คือ มีคนจนจำนวน 1,802 คน แต่เมื่อลงพื้นที่ไปสอบทานข้อมูลแบบ Deep Data พบว่ามีคนจนจำนวน 3,663 คน สะท้อนว่ามีคนจนมากกว่า 1 เท่าตัว และพบว่าในปีนี้ในคนจนเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าตัวเลขของคนจนมีความผันผวน สิ่งที่ต้องทบทวน คือ ข้อมูลคนจนหลุดตะแกรงลงมามากขนาดนี้ได้อย่างไร ? อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในการจัดเก็บ การลงพื้นที่ไปไม่ถึงคนจน หรือวิถีชีวิตของคนจน ที่ต้องทำงานตลอดเวลา จนทำให้ตกสำรวจไป ซึ่งทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลที่หล่นหาย สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐจะช้อนเก็บไว้ได้อย่างไร

มาตรการเยียวยา เพียงบรรเทาผลกระทบชั่วคราว

เดชรัต อธิบายถึงตัวเลขการเพิ่มขึ้นของคนจนที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงาน ตัวเลขนั้นไม่ได้สะท้อนว่าจำนวนคนจนมีไม่มาก แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนจนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2563 ซึ่งยังคงมีเพิ่มขึ้นอยู่ และรายงานจากธนาคารโลก บอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการเยียวยาในปีก่อนหน้า ทั้งเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบได้มาก

อย่างไรก็ตาม พบว่า ที่ผ่านมามีเพียงมาตรการเยียวยาระยะสั้นจากภาครัฐ ที่คอยพยุงเอาไว้เท่านั้น แต่น่าจะมีความพยายามจากภาครัฐมากกว่านี้ โดยเฉพาะมาตรการระยะยาว มีเพียงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทเท่านั้น ที่เคยเห็นมาก่อนหน้า สิ่งนั้นอาจลดความยากจนได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เห็นนโยบายจากภาครัฐมา

เดชรัต สุขกำเนิด

เช่นเดียวกับ สมชัย ที่อธิบายว่าเหตุใดที่วิกฤตโควิด-19 แต่ทำไมมีคนจนเพิ่มน้อยกว่าที่คาดไว้ พบว่าในความเป็นจริงนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ใช้เงินจำนวนมากมาเยียวยาประชาชนช่วงโควิด-19 คนจนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ มาตรการแบบนี้ไม่ถาวร งบประมาณปี 2565 รัฐลดจำนวนลงไป และมีตัวเลขน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เรื่องของการกู้เงิน ก็ไม่เห็นความพยายาม ส่วนที่กู้มาก่อนหน้านี้ ก็ใช้ไปใกล้จะหมดแล้ว ถึงแม้ว่าเราหวังการเปิดประเทศ ให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง จำนวนคนจนในปีนี้จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก เฉพาะตัวเลขครึ่งปีที่ตนมีอยู่ ถือว่าประมาณการณ์ได้อย่างชัดเจน

‘แผลเป็น’ จากวิกฤตโควิด อันตรายที่รัฐมองข้าม

สมชัย กล่าวว่านอกจากจะมีคนที่จนอยู่แล้วได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังมีคนที่เพิ่งมาจนในช่วงนี้ จำนวนไม่น้อย และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 หายไป กลุ่มนี้ก็อาจจะไม่หายจน เนื่องจากโลกหลังโควิดจะไม่เหมือนก่อนโควิด หลายธุรกิจจะไม่สามารถกลับมาเปิดได้ การจะกลับไปทำงานอย่างเดิมที่เคยทำจึงแทบเป็นไปไม่ได้ หากรัฐบาลเข้าใจเรื่องของแผลเป็นว่าสำคัญ และน่าเป็นห่วงแค่ไหน และถ้าไม่รีบจัดการจะเกิดความสูญเสียในเรื่องของทรัพยากรบุคคล และจะไม่สามารถย้อนกลับมาพัฒนาได้อีก

การบอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเพียง วาทกรรมสวยหรูหรือไม่ ? สมชัย กล่าวว่า กลุ่มคนจน ที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก มีอายุพอประมาณ และเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ และจะถูกทิ้งเร็วขึ้นในอนาคต สำหรับกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ แล้วประสบภาวะ Learning Loss หรือ การสูญเสียการเรียนรู้ ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สะท้อนว่ามีจำนวนมาก และคิดว่าจะมีจำนวนเยอะกว่านั้นอีกมาก รัฐควรวางแผนว่าจะยังคงรักษากลุ่มนี้ไว้ได้อย่างไร หากจะต้องเรียนออนไลน์ต่อไปในอนาคต

สมชัย จิตสุชน

สวัสดิการถ้วนหน้า – แหล่งเงินทุน – ส่งเสริมอาชีพ

สิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่นใจในชีวิต และเป็นหลักประกันของรายได้หากเกิดปัญหาขึ้นมา คือ ‘สวัสดิการแบบถ้วนหน้า’ เป็นสิ่งที่ทั้งสามท่านเห็นตรงกัน ว่าควรรีบทำอย่างเร่งด่วน สมชัย กล่าวว่า ถ้าอยากให้ความช่วยเหลือคนจนทุกคน แบบไม่มีตกหล่น คือ โครงการใดที่มีความสำคัญที่สุด ต้องทำเป็นถ้วนหน้า ตนเคยเสนอ เรื่อง สวัสดิการขนมชั้น และชั้นหนึ่ง คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณลงไปดูแล โดยที่ไม่เสียดาย เช่น สวัสดิการดูแลเด็กเล็ก เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กมีปัญหาในการใช้ชีวิต การพัฒนาต่อจากนั้นจะเกิดปัญหาทันที

ในขณะที่ เดชรัต กล่าวว่า เรื่องสวัสดิการมีผลอย่างมาก ต่อการแก้ปัญหาความยากจน เนื่องจากอัตราการพึ่งพิงของคนยากจนนั้นมีสูงมาก จึงมีความต้องการใช้เงินจำนวนมาก สวัสดิการถ้วนหน้าจะมีส่วนแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่าง เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เห็นว่าควรมีการปรับเพิ่มจำนวนเงินขึ้นอีก เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และไม่ควรมีแนวคิดการให้สวัสดิการด้วยการแบ่งแยกฐานะเพราะจะยิ่งทำให้มีความผิดพลาด และทำให้มีผู้ตกหล่นไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ

รศ.กนกวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นสำหรับคนจนในลักษณะที่มีกำลัง แต่ไม่มีทรัพย์สินอย่าง ‘ที่ดิน’ มากที่สุด คือ ‘แหล่งเงินทุนสำหรับคนจน’ โดยลดข้อจำกัด ผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์ให้มากที่สุด เพราะตอนนี้คนจนเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบได้ยากมาก ทำให้ต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ จนสร้างปัญหาและภาระการชำระคืนที่หนักเกินไป และถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้อยู่เสมอ รัฐควรเข้ามาเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเงินทุนอย่างเหมาะสม โดยไม่ค้ำประกัน

นอกจากนั้น รศ.กนกวรรณ กล่าวว่า ควรส่งเสริมการสร้างอาชีพที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และทำความเข้าใจว่าคนจนนั้นขาดโอกาส และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นได้เหมือนชนชั้นกลาง และมีข้อจำกัดมากมายในชีวิต แต่ไม่ใช่ความขี้เกียจ หรือไม่พัฒนาตัวเอง ต้องดึงศักยภาพความสามารถที่เขามี หน่วยงานในระดับท้องถิ่นจึงสำคัญอย่างมาก ที่จะทำความเข้าใจ และออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนจนมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้