แพทย์ แถลงค้าน รมว.ดีอีเอส ชง “บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกกฎหมาย ชี้ภัยคุกคาม ก่อโรค NCDs

สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ออกแถลงการณ์ คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย ชี้ บุหรี่ทุกชนิดก่อโรค NCDs ผลิตสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด เป็นภัยคุกคามควบคุมยาสูบ ทำให้คนเลิกบุหรี่ยากขึ้น ห่วงการตลาดพุ่งเป้าเด็ก-เยาวชน

วันนี้ (19 ต.ค. 2564) สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) แสดงเจตจำนงลงนามร่วมกับ 17 คณะแพทย์ผู้ดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และบุคลากรวิชาชีพที่สนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ ออกแถลงการณ์คัดค้านการอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ให้พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย สามารถจำหน่ายได้โดยทั่วไป

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี  นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี  นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า ขอให้พิจารณาระงับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติโดยรวม เนื่องจากปัจจุบันโรคไม่ติดต่อ (NCDs: Non-Communicable Diseases) 5 กลุ่มโรคหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง และสุขภาพจิต เป็นปัญหาระดับโลกที่คุกคามสุขภาพ และส่งผลกระทบถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2561 พบคนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรค NCDs ราวปีละ 398,860  คน หรือร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้เสียชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นโรค NCDs ตั้งแต่ ม.ค.63 – 13 ก.ย.64 มีผู้เสียชีวิต 14,485 คน โดยเป็นโรคเรื้อรังร้อยละ 67 หรือ จำนวน 9,705 คน นอกจากนี้โรค NCDs เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายดูแลรักษาสูง ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการทำงาน สุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของบุคคล รวมทั้งเศรษฐกิจของครัวเรือนและประเทศ

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวต่อว่า บุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ ร่วมกับการบริโภคอาหารมากเกิน การออกแรงกายไม่เพียงพอ การบริโภคแอลกอฮอล์เกินกำหนด และการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ซึ่งการเสพยาสูบไม่ว่าวิธีใด ๆ ทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ชิชาหรือบารากู่  ผู้เสพได้รับสารนิโคตินเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังมีสารพิษอื่นกว่าพันชนิด และสารก่อมะเร็งอีก 70 ชนิด เกิดขึ้นในกระบวนการเสพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพนิโคตินด้วยวิธีการใด สารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบแข็งทั่วร่างกาย ตลอดจนถึงปลายเท้า ที่สำคัญคือ หลอดเลือดหัวใจตีบแข็งเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อีกทั้งส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมและถุงลมเกิดการอักเสบเรื้อรัง เกิดโรคทางเดินหายใจอุดกั้น ถุงลมโป่งพอง เกิดมะเร็งปอดและในอวัยวะอื่นอีกมากถึง 14 อวัยวะ บุหรี่มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานเร็วกว่าปกติ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและรวดเร็ว

“WHO ไม่สามารถบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และมีความเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามต่อการควบคุมยาสูบ ทำให้การลดจำนวนคนที่เสพติดบุหรี่ยากยิ่งขึ้น ที่น่ากังวลคือธุรกิจยาสูบออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและพุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน รวมทั้งการให้ข้อมูลที่บิดเบือนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าด้วยวิธีการเดียวกันกับการส่งเสริมการสูบบุหรี่ธรรมดาในอดีต”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม