งานล้น! หมอชายแดนใต้ ขอระดมทรัพยากร เช่นเดียวกับช่วง กทม. ระบาด

“สงขลา” พบอัตราติดเชื้อตรวจเชิงรุกสูง 10-20% บางโรงพยาบาลพยายามปรับเพิ่มเตียง แต่คาดว่าอีกเพียง 2-3 วัน จะเข้าสู่ภาวะเตียงเต็ม ชี้ ตัดวงจรระบาด ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่าย

ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา ต้องรับมือกับจำนวนผู้ป่วย โควิด- 19 แบบเต็มศักยภาพ แต่การระบาดใหญ่ในชายแดนใต้รอบนี้ทำให้ต้องเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนัก และปานกลาง ถึง 130 เตียง แต่ นายแพทย์เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา ก็คาดว่าเตียงจะเต็มในอีก 2-3 วัน

ขณะเดียวกัน พื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลก็ถูกใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน วันละ 1,000 คน โดยพื้นที่อีกด้านหนึ่งก็ใช้เป็นที่ตรวจหาเชื้อ ยังไม่นับรวมว่าต้องแบ่งเจ้าหน้าที่บางส่วนไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ในค่ายทหาร

สิ่งเหล่านี้คือภาระงานที่ล้นมือสำหรับพยาบาลวิชาชีพ 70 คนและหมออีก 12 คนของโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่แม้จะเหนื่อยล้าแต่ยังคงต้องทำงานทั้งสัปดาห์ เพราะในช่วงเวลาวิกฤตมีบุคลากรไม่เพียงพอ

สถานการณ์ที่โรงพยาบาลเทพา ไม่ต่างจากที่โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ผู้ป่วยโควิด-19 ครองเตียงเต็มศักยภาพ ไม่นับรวมที่ตกค้างอยู่ในชุมชนอีกไม่ต่ำกว่า 300 คน แม้ วัคซีน จะถูกจัดสรรเพิ่มมากขึ้น เพื่อรับมือกับการระบาด แต่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ตั้งคำถามว่าวัคซีนมาช้าไปหรือไม่ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เลย

ไม่เฉพาะแพทย์พยาบาล ภาคประชาสังคมอย่างกลุ่มเส้นด้ายที่เคยช่วยหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ช่วยตรวจคัดกรองเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ ATK ที่ได้รับบริจาค โดยผู้ที่พบผลบวกจะถูกแยกออกไปรักษาตัวในรักษาพยาบาลสนาม พร้อมกับสอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

The Active สำรวจจุดตรวจเชิงรุก ในจังหวัดสงขลาเวลานี้ พบว่า ส่วนใหญ่พบอัตราการติดเชื้อที่ 10- 20% ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนเข็มแรก ในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ได้ 70% แต่นักระบาดวิทยา มองว่าหลังฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องใช้เวลา อีก 6 สัปดาห์กว่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง นี่จึงเป็นช่วงเวลาท้าทาย ที่ต้องแสวงหาความร่วมมือและระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายเช่นเดียวกับการระบาดในกรุงเทพมหานครก่อนหน้านี้ เพื่อตัดวงจรระบาดให้เร็วที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS