นักระบาด ชี้ โควิด-19 กำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่นของชายแดนใต้

“นพ.สุภัทร” ระบุ แม้ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากขึ้น แต่อาจสายเกินไป เพราะพื้นที่เกิดระบาดใหญ่แล้ว ด้าน “อนุทิน” ทุ่มวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดให้ได้ 70% ในเดือน ต.ค. พร้อมสร้างความเข้าใจการใช้ชีวิต New Normal

14 ต.ค. 2564 – ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 112 คนอีกครั้ง และพบผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 11,000 คน แต่ถ้านับการระบาดตั้งแต่ระลอกเมษายนที่ผ่านมา จะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด 21% อยู่ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่พื้นที่ชายแดนใต้ก็กำลังพุ่งสูงตามมาอยู่ที่ราว 20% รวมแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายวันทั้งหมด

หนึ่งในพื้นที่ ที่มีการติดเชื้อรายวันสูงคือที่ จ.สงขลา โดยเฉพาะที่ อ.จะนะ เป็นพื้นที่ที่โควิด-19 ระบาดหนักที่สุด นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยถึงสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ เปรียบเทียบจากเมื่อการตรวจเชื้อเชิงรุก 300 คน เดิม จะเจอผู้ติดเชื้อในอัตรา 30 คน ต่อวัน แต่เวลานี้ตรวจเชื้อในจำนวนเท่า ๆ เดิม แต่พบผู้ติดเชื้อร่วม 100 คนต่อวัน ซึ่งถือว่าหนักที่สุดในจังหวัดสงขลา ขณะที่ศักยภาพเตียงโรงพยาบาลจะนะมีผู้ป่วยรักษาเต็ม 120 เตียง จนต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม อีก 700 เตียง แต่ก็ไม่เพียงพอ ยังตกค้างอยู่ในหมูบ้าน อีกอย่างน้อย 300 คน

อย่างไรก็ตาม ภายในหอประชุม อ.จะนะ มีการระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพยาบาลมาฉีดวัคซีนประชาชน และเด็กนักเรียน ซึ่งตอนนี้ ที่นี่ สามารถฉีดได้ถึงวันละ 1,500 คน จากเดิมที่ได้รับจัดสรรให้ฉีดได้เพียงวันละ 300-600 คน

ขณะที่การจัดสรรวัคซีนแม้จะได้รับมากขึ้น แต่อาจจะสายเกินไปหรือไม่ เพราะในพื้นที่เกิดการระบาดใหญ่แล้ว นายแพทย์สุภัทร แสดงข้อมูลการติดเชื้อให้เห็นการระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางกรกฎาคม ต่อเนื่องสิงหาคมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วัคซีนขาดแคลนทั้งประเทศ และต้องทุ่มวัคซีนไปที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อถึงเดือนกันยายนที่เริ่มมีการคลายล็อก ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างยากที่จะควบคุมได้

“ข้อสังเกตสำคัญคือ การระบาดในชายแดนใต้น่ากังวล เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมาจึงอาจถูกละเลย ต่างจากการระบาดในกรุงเทพมหานคร”

โควิด-19 กำลังกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ของชายแดนใต้

นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิเคราะห์สาเหตุโควิด-19 ชายแดนใต้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์เดลตาเพิ่งจะเข้ามาระบาดในพื้นที่ ทำให้ติดเชื้อเร็ว โดยภาคใต้เริ่มระบาดหลังพื้นที่อื่น และประชาชนการ์ดตกจากการผ่อนคลายมาตรการ

เขายังบอกด้วยว่าโควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่ และสามารถคาดการณ์ได้ เช่นเดียวกับไข้มาลาเลีย ซึ่งก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่มองเห็นว่า วัคซีนอาจไม่ช่วยลดการติดเชื้อ แต่จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการหนัก และป้องกันการเสียชีวิต

สธ.ทุ่มวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดสลง 4 จังหวัดชายแดนใต้

วันเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างนำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ระบุ สาเหตุการติดเชื้อเป็นการระบาดในครอบครัวและชุมชน มีระบาดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในโรงงาน ตลาด และในกิจกรรมการรวมกลุ่ม ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ มีบางส่วนมาจากการลักลอบเข้าประเทศผ่านพรมแดนธรรมชาติ และประชาชนบางส่วนยังไม่มารับการฉีดวัคซีน

โดยได้สนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ให้ 1 ล้านโดส ฉีดให้ครอบคลุมประชากรเป้าหมาย 70% ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ในสัปดาห์นี้จะส่งวัคซีน 4 แสนโดส และสัปดาห์หน้าอีก 6 แสนโดส โดยเร่งรัดฉีดวัคซีนเชิงรุกทั้งในและนอกสถานพยาบาลให้ได้วันละ 9,500 โดส ล่าสุด ฉีดสะสม 271,370 คน คิดเป็น 60.07%

ส่วนเตียงรับผู้ป่วย ปัจจุบันมีทั้งหมด 3,540 เตียง ใช้ไปแล้ว 94.12% ได้เพิ่ม CI/HI ในทุกอำเภอ ติดตามดูแลที่บ้านโดยทีมสหวิชาชีพ ปรับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วขึ้น เพื่อลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต

สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ให้จังหวัดนราธิวาส 200,000 เม็ด ปัตตานี 50,000 เม็ด สงขลา 1,200,000 เม็ด ส่วนยะลาส่งให้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 350,000 เม็ด พร้อมส่งชุดตรวจ ATK ให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีก 140,000 ชุด มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้โดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS