ชวนจับตาอีกครั้ง 14 ธ.ค. นี้ ด้าน #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์ อันดับ 1 พร้อมจุดกระแสแคมเปญ ควงแขนจดทะเบียนสมรส สร้างการตระหนักรู้ เชื่อมีไม่ต่ำกว่า 100 คู่
วันนี้ (28 ก.ย. 2564) มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (Foundation for SOGI Rights and Justice) จัดเสวนาออนไลน์ ระหว่างที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดหมายการอ่านคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (ป.พ.พ.1448) ที่ว่าด้วยการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้วนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งภายหลังศาลเยาวชนฯ ได้เลื่อนอ่านคำวินิจฉัยออกไปอีกครั้ง เป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2564
คำร้องดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักเพศเดียวกัน ถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตไม่สามารถดำเนินการให้ได้ โดยให้ความเห็นว่า “ตรวจสอบเอกสารแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการจดทะเบียนสมรส” ทั้งคู่จึงได้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลเยาวชนฯ รับคำร้อง ก่อนจะถูกเลื่อนอ่านคำวินิจฉัยถึง 3 ครั้ง ด้วยกัน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19
สัญญา เอียดจงดี ทนายความ สำนักงานกฎหมายเอ็น เอส พี (NSP) กล่าวว่า ภายหลัง ได้หารือกับศาลเยาวชนฯ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยศาลฯ ได้ตั้งคำถามว่าประเด็นนี้ มีการหารือในรัฐสภา มีการผลักดัน ทั้ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่กำลังจะยื่นร่างฯ แก้ไข ป.พ.พ.1448 ทำไมจึงยังต้องมาร้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จึงได้ชี้แจงว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น การแก้ไข ป.พ.พ.1448 ถือเป็นประเด็นโดยตรง ส่วน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้ตั้งคำถามกลับว่า สร้างให้เกิดความเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่
“การที่มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมาอีกหนึ่งฉบับ โดยการออกกฎหมายให้ไปบังคับใช้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เข้ากับเงื่อนไข ป.พ.พ.1448 ผมถามว่ามันเลือกปฏิบัติซ้อนปฏิบัติไหม ศาลท่านก็นิ่งนะ เพราะการที่เรามายื่นต่อศาลเยาวชนฯ นี้ เพราะมันเลือกปฏิบัติไง ซึ่งผมก็เห็นว่าศาลเยาวชนฯ ควรจะมีบทบาท และตีความอย่างก้าวหน้าในการที่จะเป็นตัวกลาง หรือนำธงในการขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ด้วยซ้ำ”
ด้าน เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ ผู้ยื่นคำร้อง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย แต่ยืนยัน จะเดินหน้าตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป เพื่อคืนสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มผู้ที่ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ในประเทศไทย เพราะไม่ใช่แค่คู่ของเธอเท่านั้น แต่การศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ป.พ.พ.1448 ขัดกับรัฐธรรมนูญ เท่ากับคนทุกคนมีสิทธิสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน
ขณะที่ นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมเครือข่าย LGBTQI+ และเครือข่ายสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ได้ร่วมกันสร้างแคมเปญชวนคู่รักเพศเดียวกัน เดินทางไปยื่นจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขต และที่ว่าการอำเภอ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างให้สังคมเกิดการรับรู้ ว่ามีบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรส และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็เพื่อไม่ให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านเป็นกฎหมายโดยที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 100 คู่
“สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว พลเมืองทุกคนควรจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน การที่กระทรวงยุติธรรมยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.27 อยู่แล้ว และจะต้องถูกฟ้องแน่นอนถ้ายังมีกฎหมายนี้ออกไป”
ขณะที่ในโลกออนไลน์ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ติดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันติด #สมรสเท่าเทียม พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งทวิตเตอร์ประเทศไทยช่วงเช้าวันนี้ พร้อมเปรียบเทียบกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ผลการลงประชามติสนับสนุนให้คูรักเพศเดียวกันสมรสกันได้ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2565