สำรวจพบ เกษตรกรหน้าใหม่พึ่งภาคเกษตรหลังโควิด น่าห่วง! ผลจากสภาพภูมิอากาศ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ชี้ นโยบายช่วยเหลือแบบเงินให้เปล่า ไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัว อาจสู้ไม่ไหวในเวทีโลก และกระทบความมั่นคงทางอาหาร
จากรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งประกอบด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากนานาประเทศ เปิดเผยว่า ผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม และอาจขยับขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส หากไม่มีความพยายามในการลดผลกระทบจากมลพิษในบรรยากาศและปัญหาภัยพิบัติ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคลื่นความร้อนทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาโลกร้อนเริ่มใกล้ตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตร ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 ระบาด กระทบเศรษฐกิจสังคม หลายคนเลือกกลับภูมิลำเนา พึ่งพาภาคการเกษตร แต่ปัญหาตามมา คือ องค์ความรู้ของเกษตรกรมือใหม่ ยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล
สมศักดิ์ วิจิตธำรงศักดิ์ อดีตพนักงานซ่อมเครื่องบิน ในสายการบินชื่อดัง ยอมรับว่าเขาตกงานเป็นครั้งแรก จากสถานการณ์โควิด 19 หลังทำงานมานาน 16 ปี
เขาได้รับเงินก้อนหลังตกงานกว่า 3 แสนบาท แต่เมื่อหักลบกลบหนี้ที่กู้ยืมจากบริษัทฯ ก็ไม่เหลือเงินกลับบ้าน และยังมีหนี้ค้างอีก 2 ล้านบาท จึงตัดสินใจยืมเงินจากแม่ เพื่อเป็นทุน ก่อนหันหน้ามาทำเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาอย่างจริงจัง จากที่เริ่มลองทำมาก่อนหน้าหนึ่งปี หวังเป็นทางรอด แต่เมื่อต้องเจอสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งร้อน แล้ง และน้ำท่วมในปีเดียวกัน ยังไม่นับว่าเขายังมีองค์ความรู้ด้านเกษตรที่ไม่เพียงพอ ก็ส่งผลให้ต้องขาดทุนซ้ำ
ก็ต้องมองอาชีพเกษตรเป็นทางรอด เพราะทุกวันนี้ ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่มีรายได้จากผมคนเดียว แต่ก็ต้องสู้เพราะผมมีลูกเล็ก อีก 2 คน วัย 6 ขวบ กับ 4 ขวบ และภรรยาที่ต้องดูแล การหันกลับมาเลี้ยงปลาดุกอุยระยะแรก 6 หมื่นบาท แต่ก็ยังขาดทุน จากการเรียนรู้ประสบการณ์ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว วันนี้ ปีนี้ เริ่มใหม่ หลังตกงาน คิดว่าจะจริงจังและต้องหาความรู้เพิ่ม เพราะเวลานี้ยังมีปัญหาสภาพอากาศ น้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อน ก็มีผลทำให้กระทบแปลงเกษตรบางส่วน
ปาริชาติ มากแก้ว อดีตนักวิจัยอิสระ และปัจจุบันเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนพันธุ์สุข จ.สุพรรณบุรี เธอที่ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มาทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัว ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน ซึ่งต้องเผชิญกับโรคแมลง แม้จะหาทางแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อดึงน้ำประปามาใช้แทนแล้ว
ทุกวันนี้ปลูกพืชผักอินทรีย์ กว่า 3 ไร่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ขณะนี้ปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศที่แปรปรวน จากร้อนสลับฝน ยังส่งผลให้มีโรคแมลงมากขึ้น กระทบพืชผัก แมลง โรคในพืชมากกว่าเดิมโดยเฉพาะปัญหาอากาศร้อนมากขึ้น แม้จะไม่ได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรจากคลองชลประทาน เพราะมีน้อย และมีสารเคมีเจือปน
ก่อนหน้านี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เคยคาดการณ์ว่า กันยายน-ตุลาคมนี้ เกษตรกรยังจะต้องเจอกับฝนตกหนัก น้ำท่วม พอ พฤศจิกายน ก็จะเจอกับปัญหาน้ำแล้งอีก
แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบหนัก น่าจะอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งก็พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศที่เปลี่ยนไปก็จะทำให้ภาคเกษตรจะกระทบหนักซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องรับมือและปรับตัวให้ได้
เกษตรกรนอกเขตชลประทาน น่าห่วง แนะรัฐช่วยเสริมองค์ความรู้
รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวว่า นี่อาจเป็นแค่ปัญหาบางส่วนที่เกษตรกรต้องเจอ แต่ถ้าดูจากข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกรปี 2561 สีน้ำเงินเข้ม คือ พื้นที่ในเขตชลประทานสีฟ้าอ่อน คือ แหล่งน้ำสร้างเอง เช่น บ่อน้ำส่วนตัว
และสีเหลือง คือ พื้นที่เขตนอกชลประทาน สังเกตว่า มีเกษตรกรส่วนน้อยมาก ๆ ที่อยู่ในเขตชลประทาน คิดเป็น 26% ที่เหลือเกินครึ่ง อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเปราะบางเมื่อต้องเจอปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนซ้ำ
แต่ด้วยสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณน้ำก็คาดการณ์ไม่ได้ สิ่งที่เกษตรกรทั่วประเทศ ประมาณ 8.1 ล้านครัวเรือน อาจต้องเจอ คือ ปัญหา ผลผลิตตกต่ำ โรคในสัตว์ หนี้สิน ทั้งใน และนอกระบบ ผูกขาดเมล็ดพันธุ์-สารเคมี นโยบายช่วยเหลือแบบให้เปล่าอาจไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว นี่จึงเป็นประเด็นที่รัฐต้องพิจารณา เพราะหากเปลี่ยนเป็นการให้เงินชดเชยด้วยการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร จะทำให้ภาคการเกษตรไทยเข้มแข็ง ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องเร่งรัฐจุดนี้ให้มากขึ้น เพื่อลดความเสียหายจากการขาดทุน
ที่สำคัญ หากรัฐยังไม่มีนโยบายพัฒนาศักยภาพเกษตรให้ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงจะแข่งขันในตลาดโลกไม่ไหว แม้แต่การผลิตให้เพียงพอภายในประเทศ ก็อาจจะเป็นปัญหาที่น่ากังวลในอนาคต