ยุบ ศบค. ส่งผลอย่างไรต่อการคุมโควิด-19 ?

ตรวจการบ้าน 1 ปี 7 เดือน ศบค.กับการคุมระบาดโควิด-19 ก่อนส่งไม้ต่อให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ 

จับตาการประชุม ศบค. วันที่ 10 ก.ย. 2564 คาดการณ์จะมีการพิจารณายกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ปิดโรงพยาบาลสนามบุษราคัม และโรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดินมงกุฎวัฒนะ รวมถึงปรับมาตรการคุ้มเข้มในรอบ 14 วัน 

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผอ.ศปก.ศบค. ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัว และลดลง บริษัทเอกชนให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ประชาชนเข้าใจมาตรการป้องกันตัวเองมากขึ้น แม้มีบางส่วนยังไม่เข้มงวด

ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก จึงได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้าน เพื่อส่งมอบงานให้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหน้าที่ต่อ ทันทีที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะกลับไปใช้กฎหมายปกติคือ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับปี 2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ครอบคลุมงานป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งการยกเลิกครั้งนี้ย่อมส่งผลให้ ศบค. ต้องยุบเลิกไป

ขณะที่ท่าทีของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุ หากมีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบ ศบค. และกลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน กระทรวงสาธารณสุขก็มีความพร้อม แต่ยอมรับว่า ทำได้เฉพาะป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวัง รักษา ดูแล ส่วนมิติอื่นจะให้ไปเฝ้าชายแดน จับผับบาร์ ผิดกฎหมาย เกินความสามารถของกระทรวงที่จะทำได้

ความเป็นไปได้ที่จะยุบ ศบค. ด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงลงขามาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 2 หมื่นคนแต่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. บอกว่าการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันศุกร์ที่ 10 นี้ จะมีการดูตัวเลขต่างๆ รอบ 14 วันที่ผ่านมา โดยผลการล็อกดาวน์ยังส่งผลต่อ หรือที่เรียกว่า “กินบุญเก่า”​ ได้ถึงปลายเดือน ก.ย. หรือ ต้น ต.ค.นี้ ถ้าคุมไม่ดีอาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแตะ 3 หมื่นคนต่อวัน ส่วนผู้เสียชีวิตอาจไม่สูงขึ้นจากการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยง

ควรยุบ ศบค. ตั้งนานแล้ว 

เสียงเรียกร้องให้ยุบ ศบค. เริ่มขึ้นหลังเกิดการระบาดระลอก 3 ประมาณเดือน พ.ค.​2564 จาก นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังแนวทางการสื่อสารของ ศบค. มีความสับสน และการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์การระบาด ทั้งยังมีลักษณะของการรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรี สั่งการผู้เดียว ทว่ากลับไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้น 

นายแพทย์สุรพงษ์ มองว่าการตั้ง ศบค. ไม่ได้ช่วยให้การตัดสินใจออกมาตรการควบคุมโรคเร็วขึ้นซ้ำยังทำให้ทุกอย่างล่าช้า กระทบต่อกลไกในการควบคุมโรคตามหลักการแพทย์ เมื่อย้อนดูการควบคุมโรคในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีการจัดตั้ง ศบค. เช่น โรคซาร์ส ใช้ทีมสอบสวนโรคลงไปควบคุมหาต้นตออย่างรวดเร็ว โรคไข้หวัดนก ก็มีการบริหารงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งใช้กลไกตามปกติในการบริหารงาน มีคนประมาณ 10 กว่าคนนั่งคุยกัน และแผนงานวันรุ่งขึ้นเดินหน้าทำเลย 

“การที่นายกรัฐมนตรีรวบอำนาจการบริหารงานไว้ที่ตัวเอง กลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น จึงแนะนำว่าควรคืนอำนาจให้กับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ และเชื่อว่าถ้ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเองได้”

สอดคล้องกับ ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักจัดการภัยพิบัติ เห็นว่าความชัดเจนของแผนการจัดการจะนำไปสู่ความชัดเจนของการสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม และนำไปสู่การให้ความร่วมมือ ที่ผ่านมา ศบค. ทำจุดนี้ได้ดีแค่ไหน 

หลักการของการสั่งการแบบเชิงเดี่ยวหรือ Single Command ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจ หรือสั่งคนเดียว แต่หมายถึงการสั่งการเชิงระบบ ศบค. ต้องใช้วิธีการสั่งให้เกิดเอกภาพประสานงานกับทุกๆหน่วย ทั้งหน่วยที่ไม่ได้ปฏิบัติการภายใต้ พ.ร.บ. เดียวกัน และหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ปลายทาง ที่มีบริบทต่างกัน ดังนั้นจะไม่ใช่การสั่งด้วยคนคนเดียวแน่นอน

เปิดโครงสร้าง ศบค. 

ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 63 พร้อมๆกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อระดมกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่จะประเมินสถานการณ์และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  และปลดล็อกอุปสรรค์บูรณาการ การทำงานของทุกหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ 

นอกเหนือจากการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการย่อยด้านต่างๆ ยังมีการออกประกาศแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ซึ่งนับได้ว่าที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการ ศปก.ศบค มี นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2558-2562) และกรรมการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์ เซล่า จำกัด ผู้ผลิตและดูแลการขายวัคซีนแอสตราเซเนกา และนายแพทย์อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2560-2562) อดีตคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษา และที่น่าสนใจภายใต้โครงสร้างนี้ไม่ชื่อของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลงานนี้โดยตรง มามีส่วนเกี่ยวข้อง 

ตรวจการบ้าน ศบค. 

ตลอดระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ของ ศบค. สิ่งที่ประชาชนรับรู้คือการรายงานข้อมูลรายวันจาก นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และ แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ เริ่มแรกมีบทบาทสำคัญในการทำ State Quarantine ต่อมาคือ การบังคับใช้มาตรการต่างๆเพื่อควบคุมโรค ทั้งการจำกัดการเดินทาง แบ่งสีพื้นที่เสี่ยง ให้เปิด หรือ ปิดกิจการเสี่ยง และคำสั่งในการล็อกดาวน์ เป็นต้น 

ความพิเศษของ ศบค. ที่มีอำนาจมากกว่า กระทรวงสาธารณสุข คือโครงสร้างที่มีส่วนผสมจากกองทัพ ทำให้การควบคุมสถานการณ์การระบาดใช้กำลังทหารและตำรวจเข้ามา โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และระบุสาเหตุว่า ….

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน 2564 อันเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล โดยในรอบนี้ผู้ติดโรคจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยมาก ในระยะแรก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้น ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร 

ทว่า หากพิจารณาต้นเหตุการระบาดทั้ง 3 ระลอก ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามาจากการปล่อยปละละเลยของภาครัฐเอง นับตั้งแต่การระบาดรอบระลอกแรก ที่มาจากสนามมวยของกองทัพบก การระบาดระลอกสอง ที่มาจากการปล่อยแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการระบาดระลอกสาม ที่เริ่มต้นจากสถานบันเทิงซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นระดับวีไอพี 

ต้นเหตุของการระบาดที่ผ่านมา จึงเป็นหลักฐาน สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของ ศบค. ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS