“ขยะติดเชื้อ” กทม.พุ่ง 70 ตัน/วัน – พบ HI บางชุมชนขยะล้น จัดการแย่ เสี่ยงแพร่เชื้อ

กทม. ยอมรับ มาตรการ HI – CI ทำขยะติดเชื้อล้นชุมชนแออัด หารือเพิ่มแนวทางจัดเก็บ คัดแยกขยะ แจกถุงแดง จัดชุดเดินเท้าเข้าถึงชุมชน ลดการแพร่กระจายเชื้อ

วานนี้ (27 ส.ค.64) The Active ลงสำรวจ ชุมชนเศรษฐกิจวรวีร์ เขตบางเขน กทม. หลังได้รับการร้องเรียน ถึงแนวทางจัดการขยะติดเชื้อภายในชุมชน ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดูแลตัวเองที่บ้าน ในระบบ Home Isolation มากกว่า 20 คน อาจทำได้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนถุงขยะ และถังขยะติดเชื้อจาก กทม.

บรรยากาศภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกสูง ปลูกติดกันกว่า 100 หลังคาเรือน มีทางเดินกว้างไม่ถึง 1 เมตร ด้านล่างเป็นน้ำขัง ตลอดเส้นทางยังพบเห็นทั้งขยะทั่วไป และขยะเสี่ยงติดเชื้อ อย่างหน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ทั้งบนบกและในน้ำ ส่วนถังขยะพบเห็นได้ในบางจุด ขณะที่บ้านของผู้ติดเชื้อบางหลังไม่มีแม้แต่ถุงสีแดง ที่จะแยกประเภทขยะติดเชื้อให้เห็นได้อย่างชัดเจน

สิทธิชัย แสงนาค ประธานชุมชนเศรษฐกิจวรวีร์ บอกว่า ชุมชนพบผู้ติดเชื้อคนแรกในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะทยอยติดกันกว่า 20 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่คือผู้มีรายได้น้อย จึงได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นักการเมือง และผู้มีจิตศรัทธา บริจาคข้าวกล่อง และของใช้มามอบให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบจากโควิด-19 

สิทธิชัย แสงนาค ประธานชุมชนเศรษฐกิจวรวีร์

แต่สำหรับปัญหาขยะติดเชื้อนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ กทม. จะเพิ่มรอบพิเศษของการเก็บขยะติดเชื้อ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่มีจุดพักขยะ และเส้นทางแคบรถขยะไม่สามารถเข้ามาได้ ชุมชนจึงต้องช่วยเหลือกันเองในการซื้อถุงแดงสำหรับคัดแยกขยะ หลังละประมาณ 5 กิโลกรัม จากนั้นบ้านที่ติดเชื้อจ้างคนในชุมชนครั้งละ 5 – 10 บาท  ขนไปกองรวมกันที่ทางเท้าริมถนนหน้าชุมชนในตอนเย็น เพื่อรอรถขยะของสำนักงานเขตมาเก็บในเวลา 04.00 น. ของทุกวัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือในรอบนี้เจ้าหน้าที่จะไม่ได้สวมชุดป้องกัน (PPE) แบบในรอบบ่าย

“เรารู้ว่าวิธีแบบนี้ไม่ถูกต้อง เหมือนเราเอาขยะติดเชื้อจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่ง แต่เราก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยกันคัดแยก อยากขอร้อง กทม.ช่วยเพิ่มถุงแดง ถังขยะติดเชื้อลงมาในชุมชน และให้เจ้าหน้าที่หรือชุมชนก็ได้รวมเอาไปส่งในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและเจ้าหน้าที่ด้วยเพราะเราก็เป็นห่วงเขา”

 สมฤดี ลันสุชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางเขน

สมฤดี ลันสุชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางเขน ชี้แจงว่า ปัจจุบันสำนักงานเขต รับผิดชอบจัดเก็บขยะในแขวงอนุสาวรีย์ และแขวงท่าแร้ง ที่ผ่านมาตั้งแต่ เม.ย.64 มีผู้ติดเชื้อ สะสม 2,915 คน ปัจจุบัน 271 คน แบ่งเป็นรักษารูปแบบ CI 108 คน และ HI 163 คน จึงทำให้ขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเฉลี่ย 5 กิโลกรัม/คน/วัน ที่ผ่านมา กทม. จึงมีนโยบายเพิ่มรอบพิเศษในการจัดเก็บเฉพาะขยะติดเชื้อในช่วงบ่ายของทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกัน หน้ากากอนามัย ถุงมือ น้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อ และได้รับวัคซีน 2 เข็ม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน 

ขยะติดเชื้อทั้งหมดในแต่ละวัน จะถูกนำไปกองรวมไว้ภายในศูนย์พักคอยผู้ป่วยรามอินทรา เพื่อรอรถจากบริษัท กรุงเทพธนาคม รับไปกำจัดด้วยเตาเผาที่โรงขยะอ่อนนุช และหนองแขม วันเว้นวัน ซึ่งขณะนี้ยังทำงานได้ไม่เต็มที่เนื่องจากขยะติดเชื้อส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามา ยังทิ้งรวมกับขยะมูลฝอย เช่น เศษอาหาร ทำให้เกิดความชื้น ยิ่งเพิ่มระยะเวลาในการเผา

ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางเขน ยอมรับด้วยว่า ที่ผ่านมาอาจเข้าไม่ถึงชุมชนบางแห่งโดยเฉพาะชุมชนแออัด หลังรับทราบปัญหา จะพยายามกระจายถุงแดงให้ทั่วถึง พร้อมหารือในที่ประชุมว่าจะทำอย่างไรในการนำขยะติดเชื้อในชุมชนออกมา เช่น จัดชุดเดินเท้าเข้าไปในชุมชน ซึ่งขณะนี้สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงแนวทางการจัดการขยะติดเชื้อแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขยะที่ปนเปื้อน เช่น หน้ากากอนามัย, กระดาษชำระ, ชุดตรวจ ATK และกลุ่มขยะประเภทเศษอาหาร บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร, ช้อนส้อมพลาสติก, ขวดน้ำดื่ม ดำเนินตามแนวทางของกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากแนวโน้มของขยะติดเชื้อที่อาจเพิ่มมากขึ้นหลังมาตรการ CI และ HI

รายงานข้อมูลขยะติดเชื้อใน กทม. วันที่ 27 ส.ค. 64 รวม 145,430 กิโลกรัม แบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 68,156 กิโลกรัม  และมูลฝอยติดเชื้อโควิด 77,274 กิโลกรัม 

กทม. จึงขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และสะดวกในการรวบรวมไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล โดยทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” แยกทิ้งกับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะกว่า 1,000 จุด 


สำหรับจุดรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ ประกอบด้วย สำนักงานเขต, ศูนย์บริการสาธารณสุข, โรงพยาบาลสังกัด กทม., ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(ดินแดง), โรงเรียนสังกัด กทม., ศูนย์กีฬา กทม., ศูนย์เยาวชน กทม., สถานีดับเพลิง, สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด, วัด, ชุมชน, บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเคหะชุมชนต่างๆ เป็นต้น หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะที่หน่วยงาน สถานประกอบการ หรือที่พักอาศัย เช่น คอนโดมิเนียม หอพัก จัดไว้ให้

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน