นโยบายคุมระบาด-การเมืองผิดพลาด ทัศนคตินายกฯ ตัวเร่งความรุนแรง

‘รศ.พิชาย’ ชี้ ประชาชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ เหตุ “รู้ไม่พอ ตัดสินใจผิดพลาด สร้างความสูญเสีย” ทั้งจากโรคระบาดและการเมือง ย้ำ ยิ่งสั่งสมความรุนแรงในสังคมไทย

23 ส.ค. 2564 – รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ ผอ.หลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยกับ The Active กรณีปัญหาทางการเมืองและโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ว่า เป็นเพราะ การบริหารงานที่ผิดพลาด หรือ นโยบายที่ล้มเหลว พร้อมแนะนายกรัฐมนตรีปรับทัศนคติ เน้นการเจรจา สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน และ รับผิดชอบกับนโยบายการจัดการโรคระบาดที่ผิดพลาด

ทัศนคตินายกรัฐมนตรี-ระเบิดเวลาความรุนแรงทางการเมือง

สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งในสังคมไทย ทั้งกรณี สลายการชุมนุม, การดำเนินคดีทางกฎหมาย หรือแม้แต่ การละเลยปฏิบัติหน้าที่ ล้วนนิยามได้ว่านี่คือ การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ และหากใช้โดยไม่มีเหตุผลจำเป็น เช่น การใช้แก๊สน้ำตา, ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ฯลฯ ฉับพลันทันทีโดยไม่แจ้งเตือนและไม่เจรจา โดยผู้มีอำนาจไม่ห้ามปราม ยิ่งส่อนัยหนุนความรุนแรง

รัฐบาลไม่แสดงสัญญาณที่ชัดเจน ห้ามปรามเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง
โดยนัยรัฐอาจเปิดไฟเขียว มีแนวโน้มเห็นด้วย กับ การใช้ความรุนแรง
ต่อประชาชน ในสนามการชุมนุม…

รศ.พิชาย มองว่า การชุมนุมครั้งนี้มีเยาวชนไม่มากและไม่ยืดเยื้อ หากเป็นรัฐบาลชุดอื่น จะไม่เคยใช้ความรุนแรงในการชุมนุมลักษณะนี้ แต่รัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมมากกว่ารัฐบาลอื่น ๆ

ตำรวจใช้การสลายการชุมนุมต่อเนื่อง การยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง กับผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนหรือผู้ชุมนุมอิสระ ขณะเดียวกัน นายกก็ไม่เคยพูดห้ามปราม ทั้งยังวิจารณ์ตำหนิผู้ชุมนุมก่อนเป็นหลัก ทัศนคติแบบนี้ก็ยิ่งเสริมให้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ใจ ทำกับผู้ชุมนุมรุนแรงยิ่งขึ้น ทัศนะของนายกก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมความรุนแรงนี้ขึ้นมา

รศ.พิชาย ระบุอีกว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่มาของรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้รัฐบาลนี้ให้ความสนใจกับสวัสดิการและสวัสดิภาพของประชาชนน้อยเมื่อเทียบกับรัฐบาลอื่น ๆ พร้อมย้ำ อุปนิสัยนายกฯ แก้ยากใช้และทำแบบเดิมต่อเนื่อง 7 ปี ก็ยังไม่เปลี่ยนทัศนคติการมองประชาชน พร้อมแนะสิ่งที่ พลเอก ประยุทธ์ ควรทำ คือ ออกมาพูดให้ชัดว่า ให้ ตำรวจต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เช่น สั่งห้ามไม่ให้ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา น้ำแรงดันสูง หากการชุมนุม ยังอยู่ในขอบเขต และเปิดให้มีการชุมนุมโดยประชาชนจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

“ยิ่งท่าทีรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไร ก็จะทำให้คนไม่พอใจขยายตัวมากขึ้น แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นนายกฯ คนไหนลาออก เพราะการขับไล่เดินขบวน

ณ เวลานี้ ผมเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ เขาจะยังคงอำนาจ ทั้งไม่ลาออก และยุบสภาฯ แต่ถ้ายังใช้แบบแผนแบบเดิม มีทัศนคติแบบเดิม การสั่งสมความรุนแรงในสังคมมันก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น”

นโยบายล้มเหลว-ขยายผลความรุนแรง

อย่างแรก คือ ความผิดพลาดประเมินความเสี่ยงโรคระบาดโควิด-19 ประเด็นนี้เริ่มจากความผิดพลาดตัดสินใจใช้วัคซีนคุมระบาดช้า โดยมองว่า ใช้มาตรการเว้นระยะห่าง และมาตรการอื่น ๆ ก็เพียงพอในการคุมระบาด จนนำมาสู่การตัดสินใจผิดพลาด ขณะที่ การระบาดระลอก 2 ก็เกิดจาก ความผิดพลาดจากนโยบายที่ไม่วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อนบ้าน และปล่อยปละละเลยแรงงานข้ามแดน และมีนโยบายที่หย่อนยาน ปล่อยให้สถานบันเทิงกลายเป็นคลัสเตอร์การระบาด

ถัดมา ความผิดพลาดเรื่องนโยบายวัคซีน จนถึงปัจจุบันประเด็นวัคซีนก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องคุณภาพ และการไม่กระจายความเสี่ยง (แทงม้าตัวเดียว) รวมถึงการตัดสินใจไม่เข้าร่วมโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก เป็นผลสืบเนื่องให้ไทยไม่สามารถได้รับวัคซีนที่เพียงพอ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือจนถึงเวลานี้ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบ แก้ปัญหาอย่างจริงจังในสิ่งที่เคยตัดสินใจผิดพลาด

“รัฐบาลบอกว่า วัคซีนฉีดเพื่อป้องกันการเสียชีวิต เจ็บป่วยหนัก ทั้งที่ฟังก์ชันหลักของวัคซีน คือ ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ แต่พอรัฐบาลรู้ว่าวัคซีนของตัวเองมีประสิทธิภาพต่ำ ก็พยายามไม่พูดถึงหน้าที่หลักของวัคซีน พยายามที่จะปกปิดความผิดพลาดของตัวเอง จนนำมาสู่การติดเชื้อ และเสียชีวิตอย่างกว้างขวาง กลายเป็นความรุนแรงที่ทำลายครอบครัวของคนจำนวนมาก เด็กบางคนต้องสูญเสียพ่อแม่ กำพร้า บางคนตายกันยกครัว…”

สุดท้าย ความผิดพลาดนโยบายปิดแคมป์คนงาน ปิดแคมป์โดยไม่เตรียมการรองรับ มีช่วงหนึ่งที่ตรวจพบเชื้อในแคมป์ และสั่งปิด ผิดหลักระบาดวิทยา เพราะไม่มีมาตรการรองรับ และปล่อยให้ผู้ติดเชื้อกระจายตัวกลับต่างจังหวัด ทำให้สัดส่วนการติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงกว่า กรุงเทพฯ ในหลายพื้นที่

รศ.พิชาย ย้ำว่า นโยบายทำนองนี้อาจจะเข้าข่ายความผิดพลาดในเชิงนโยบาย ที่อาจไม่ได้ตั้งใจ คือ เกิดจากความรู้ไม่พอ การตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ส่งผลต่อความสูญเสีย ทั้งในแง่ของโรคระบาดและการเมือง หากรัฐบาลไม่ตระหนักในความผิดและแก้ไข ประชาชนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย ซึ่ง นโยบายที่ล้มเหลว และผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมขยายตัวอย่างรวดเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน