วิจัย ชี้เกษตรกรไทย เมินปรับตัวสู้ “โลกร้อน” – ไร้แรงจูงใจ หวังพึ่งเงินชดเชย

หวั่นนโยบายรัฐช่วยเหลือ เยียวยาแบบให้เปล่า ไร้เงื่อนไข ทำเกษตรกรขาดภูมิคุ้มกัน สู้วิกฤต คาดอนาคต ก่อความเสียหายสะสม พื้นที่เกษตร ขาดน้ำ หลายล้านล้านบาท ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ แนะพึ่งพาตัวเอง ปรับตัว เน้นปลูกพืชผสมผสาน ทางรอดเกษตรกรยุคใหม่

รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัย ในเวทีสัมมนาออนไลน์ผ่านทางเพจ Thai Climate Justice for All เรื่อง “ผลกระทบโลกร้อนต่อภาคเกษตรและความมั่นคงอาหาร” ว่า ภาคการเกษตรไทยกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัยในอัตราเร่ง และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรในอัตราเร่งเช่นกัน โดยปี 2543 ประชากรสูงวัยมีเพียงร้อยละ 7 ขณะที่แรงงานหนุ่มสาว มีร้อยละ 55 ซึ่งสถิติปี 2563 พบว่า ประชากรสูงวัยภาคเกษตรก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย

รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คาดอนาคตเกษตรกร “ใต้ – ตะวันออก” เสี่ยงเจ็บหนักจาก Climate change

งานวิจัยยังพบอีกว่า ร้อยละ 80 ของเกษตรกรที่ถือครองที่ดิน ไม่ถึง 20 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะมีเพียงร้อยละ 26 ของครัวเรือนเกษตร เข้าถึงระบบชลประทาน เข้าถึงแหล่งน้ำ โดยผลกระทบของ Climate change ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ยิ่งจะมีผลทำให้พื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับความเสียหายมากกว่าพื้นที่ในเขตชลประทาน

ขณะเดียวกัน ยังคาดการณ์กันว่าความเสียหายสะสม ในช่วง ค.ศ.2011-2045 จะเท่ากับ 6 แสนล้านบาท และอาจสูงสุดถึง 2.850 ล้านล้านบาท เช่น หากประเมิน พืชยืนต้นที่ใช้ระยะเวลาปลูกและเติบโตช้า จะเสี่ยงเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงโดยเฉพาะ ภาคใต้ และภาคตะวันออกที่ปลูกพืชยืนต้นมากกว่าพืชไร่


ส่วนในแง่ของการผลิตข้าวของไทยพบว่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงของอุปทานการผลิตข้าว ค.ศ.2046-2055 ในพืชนอกเขตชลประทาน จะกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูงมากกว่าพืชในเขตชลประทาน ที่มีน้ำต่อเนื่อง

นอกจากนี้ไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก อันดับที่ 1 คือ มันสำปะหลัง อันดับ 2 ข้าว และน้ำตาล ส่วนผลไม้ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง แต่ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ มีผลต่อการส่งออกของตลาดโลกด้วย เพราะจริง ๆ แล้วไทยถือเป็นครัวโลกที่หลายประเทศรู้จัก แต่ละปี สินค้าภาคเกษตรและอาหารของไทย จะส่งออกไปต่างประเทศประมาณกว่า 8 แสนล้านบาท

ชี้นโยบายรัฐ ตัวฉุดเกษตรกรปรับตัวสู้ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ได้

การที่ภาคเกษตรไทยปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ยากในปัจจุบัน เพราะภาครัฐมักมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรแบบให้เปล่า แต่ละปีเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือเฉลี่ยครัวเรือนละ 17,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าการช่วยเหลือเช่นนี้ลดแรงจูงใจ เพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเพิ่มความเสี่ยงการผลิต ที่มีแนวโน้มว่าอนาคต climate change จะยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากภาคเกษตรไม่ปรับตัว นั้นหมายความว่า รัฐบาลก็ใช้งบประมาณช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม

มีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข ให้เกษตรกร ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จะนำไปสู่การกระตุ้นเศษฐกิจ บรรเทาความเดือดร้อน ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ที่สำคัญเกษตรกรเอง ก็ต้องได้รับการอบรมความรู้เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบการปรับตัว ความรู้ด้านตลาด การปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทนข้าว และพัฒนาคุณภาพสินค้า และการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่พร้อมกับงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ

งานวิจัยยังพบอีกว่า การทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลาย จะให้ผลตอบแทนมากกว่าปลูกพืชชนิดเดียว เช่น ปลูกข้าว อย่างเดียว ได้ผลตอบแทนร้อยละ 10 และมีค่าความเสี่ยงร้อยละ 40 แต่หากปลูกข้าวร่วมกับพืชอย่างอื่น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง จะมีผลตอบเเทนสูงขึ้น

แต่ปัจจุบันนโยบบายภาครัฐยังไม่เอื้อให้มีการปลูกพืชผสมผสาน เพราะว่าชาวนามัก คิดว่าปลูกข้าวอย่างเดียว เดี๋ยวก็ได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ จึงยังทำให้เกษตรกรก็ยังปลูกข้าวต่อไป ภาครัฐควรลดจุดนี้ไปและหันมาสนับสนุนปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงได้มากถึง ร้อยละ 92

ส่วนมุมมองการส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศนั้น ต้องผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องการแข่งขันขันในตลาดเช่าบริการเหล่านี้ให้มาก เพื่อรับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ยิ่งถ้าในสังคมไทยมีตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ มากขึ้นราคาเช่าก็จะถูกลง เกษตรกรก็จะได้ไม่ต้องเช่าราคาสูงเป็นการลดต้นทุน

หนุนสร้างแรงจูงใจ – พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล รับมือวิกฤต “โลกร้อน”

สำหรับทางรอดสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ภาครัฐควรสนับสนุนชุมชนและเกษตรกร อย่างการส่งเสริมทำบ่อจิ๋ว การทำธนาคารน้ำใต้ดิน และต้องส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล เพราะประเทศไทยยังทำเรื่องนี้น้อย ส่วนภาคธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อื่น ๆ ควรให้แรงจูงใจลงทุนในเทคโนโลยีที่ประหยัดน้ำ ให้เงินช่วยเหลือ สร้างแรงจูงใจแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้ลงทุนปรับตัว เพิ่มภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยง ขณะที่ภาครัฐเอง ก็ต้องมีการส่งเสริมบูรณาการการใช้น้ำกับการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย

สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งขับเคลื่อน ให้เร็วที่สุดในเชิงนโยบายเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนจะสาย คือการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิต พืช ปศุสัตว์ และประมงแต่ละชนิด พร้อมทั้งเน้นวิเคราะห์ผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น การแปรรูป การเก็บรักษา การขนส่ง แล้วต้องประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเน้นย้ำให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาครัฐเข้าในความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ การส่งเสริมการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์และเตือนภัยอย่างทั่วถึง ควรส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการปรับตัวลดผลกระทบในภาคเกษตรสำหรับผลผลิตเกษตรแต่ะชนิด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับเกษตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในยุคนี้การส่งเสริมการใช้แอพพลิเคชัน ถือว่ามีส่วนช่วยเกษตรกรสูงมาก ในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ จากงานวิจัยฯ พบว่า เกษตรกรรายย่อย 248 คน จาก 930 คน คิดเป็นร้อยละ 26.7 ใช้แอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มอย่างน้อยหนึ่งรายการ เพื่อตรวจสอบพยากรณ์อากาศ ตรวจสอบราคาผลผลิต คู่มือการผลิต และค้นหาตลาด หรือผู้ชื้อ โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีรายได้หักค่าใช้จ่ายลดลงเล็กน้อย ต่างจากผู้ที่ไม่เคยใช้แอพพลิเคชันคาดการณ์ จะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ แอพพลิเคชันคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ จะมีผลดีมากกว่าและสามารถปรับตัวได้ทัน

แนะ “ปลูกพืชผสมผสาน” ทางเลือก ทางรอด เกษตรกรยุคใหม่

สุเมธ ปานจำลอง เครื่อข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสาน บอกว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีผลกระทบมาก สังเกตจากระยะเวลาการตกของฝนสั้นลง เพียงไม่กี่เดือนฝนก็หมด ดังนั้นการทำนาดำ อาจทำไม่ได้เหมือนเดิม เกษตรกรหลายคนจึงต้องหันมาทำนาหว่าน ที่ต้องเสี่ยงกับฝนฟ้าอากาศ และฟังการพยากรณ์อากาศเพื่อเลือกวิธีปรับตัว หลายชุมชนจึงเลือกแบ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ทำนา 2 รอบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำนาลง

หลายคนเริ่มปรับตัว จากปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานบางจังหวัด ด้วยการขุดบ่อปลูกพืชหลังนาสร้างความชุ่มชื้นให้หน้าดิน และวางระบบน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ ขณะเดียวกันก็เสนอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยส่งเสริมระบบการจัดการน้ำในแปลงย่อยเพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ในภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมที่เป็นภัยพิบัติที่มักเกิดขึ้นในประเทศไทย

ผมจึงอยากเสนอให้เกษตรกรดั้งเดิมและรุ่นใหม่ ๆ ที่กลับบ้าน ได้เข้าใจและเลือกทำเกษตรกรผสมผสานมากขึ้นกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการปลูกข้าวอย่างเดียว เพื่อให้มีรายได้หลายทาง และรู้จักการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เพราะแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์