ชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ ร้องรัฐ แก้ราคาผลผลิตตก สะท้อนปัญหาถูกบีบ เปลี่ยนวิถีทำกิน

เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ร่วมเกษตรกร คนจน ปลดแอก เคลื่อนไหวเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ลาออก รับผิดชอบแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาที่ดินที่ทำกินล้มเหลว

กิจกรรม Car Mob “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า (15 ส.ค.64) ที่ จ.เชียงใหม่ หนึ่งในกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คือ “กลุ่มเกษตรกร คนจนปลดแอก” และกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมด้วย เหตุผลสำคัญคือการเผชิญกับปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 

กลุ่มชาติพันธุ์ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นำรถขนมะเขือเทศจำนวนมาก มาร่วมขบวนด้วย เพื่อสะท้อนปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และนำมะเขือเทศทั้งหมด เทลงบนไวนิลสกรีนภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พชร คำชำนาญ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร คนจนปลดแอก กล่าวปราศรัยว่า ถือเป็นความเจ็บปวดที่ชาวบ้านต้องทิ้งมะเขือเทศ เพราะผลผลิตเหล่านี้คืออนาคต คือความหวังของครอบครัวที่จะพัฒนา ยกระดับฐานะของครัวเรือน ทั้งที่การทำกินโดยอาศัยองค์ความรู้และต้นทุนทางวัฒนธรรมของพวกเขาให้มีคุณค่ามากในยามวิกฤต โดยยืนยันว่า สิ่งที่ทำเพื่อต้องการสื่อสารให้สังคมไทยรู้ว่าปัญหาของเกษตรกรและชาติพันธุ์หนักหนาสาหัส และหากรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

“มะเขือเทศที่อมก๋อยเหล่านี้ แจกฟรียังไม่คุ้ม วันนี้มะเขือเทศของพี่น้องอมก๋อยจะมีคุณค่ามากที่สุดด้วยการใช้เป็นเครื่องมือละเลงลงไปหน้าของเผด็จการที่กัดกินและกดขี่ประชาชน ”

พชร คำชำนาญ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรคนจนปลดแอก

พรชิตา ฟ้าประธานไพร ชาวปกาเกอะญอ บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ บอกว่า นำมะเขือเทศจากพื้นที่ อ.อมก๋อย มาร่วมกิจกรรมนี้ เพื่อประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่าตอนนี้ผลผลิตที่ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจทำนั้น ไม่สามารถขายได้แล้ว หรือถ้าขายได้ก็ไม่ได้กำไร ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตมานั้น ชาวสวนต้องลงทุนในราคาที่สูง คือ ค่าปุ๋ย ค่ายา โดยราคาปุ๋ย และยาเริ่มแพงขึ้นทุกปี แต่ราคาผลผลิตกลับแย่ลงเรื่อย ๆ บางคนต้องกู้หนี้ยืมสิน

“มะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจของพี่น้องอมก๋อย ทุกๆ ปีชาวบ้านจะปลูกมะเขือเทศเพื่อขาย นำเงินที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งลูกเรียน ปีนี้ชาวสวนต้องทิ้งผลผลิตในสวนที่ปลูกมาหลายเดือน หรือต้องไปขายข้างนอกในราคาที่ถูกพอเจอโควิดก็ไม่สามารถเอาไปส่งข้างนอกได้ ต้องเอาไปทิ้งหลายคันรถ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวสวนต้องเกิดความท้อ ไม่มีแรงที่จะทำต่อ และไม่มีเงินจ่ายค่าหนี้สินที่ยืมมาเพื่อลงทุน นำไปสู่ความเครียด ทำให้เกิดผลเสียสุขภาพ”

พรชิตา ฟ้าประธานไพร 
ชาวปกาเกอะญอบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

เกษตรกรจากอมก๋อย ยังบอกด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่ถูกรัฐบีบให้ใช้พื้นที่ที่จำกัด แต่เดิมเคยพึ่งพิงวิถีไร่หมุนเวียน ที่ให้ความมั่นคงทางอาหาร แต่รัฐไม่ยอมรับ ประกอบกับการหันมาทำระบบเกษตรเชิงเดี่ยวและพืชเศรษฐกิจ เมื่อไม่สามารถขายได้ราคา ก็ไม่มีกิน จึงมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐให้แก้ปัญหาเรื่องสิทธิในที่ทำกิน

“เราอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาผลผลิตของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นราคาผลไม้หรือพืชผักอยากให้มีการกำหนดราคากลางที่ชัดเจนให้ชาวเกษตร และอยากให้แก้ปัญหาที่ดินทำกินให้พี่น้อง เพราะในปัจจุบันชาวพวกเราไม่ได้รับสิทธิในที่ดินทำกิน บ้านเราอยู่ในป่าสงวนฯ ทำกินด้วยวิถีไร่หมุนเวียนแต่ไม่ได้รับการยอมรับ แล้วยังจะถูกแย่งยึดที่ดิน จะมีโครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่เข้ามา เรารู้สึกว่าเราไม่มีสิทธิเลยทั้งที่เราอยู่ในพื้นที่มาก่อนเขาจะยึดที่เราเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่พี่น้องชาติพันธุ์ไม่มีปากเสียง ไม่มีใครมองเห็นเราเลย เหมือนกับพี่น้องบางกลอย” 

สำหรับราคาพืชผลหลายชนิดที่ตกต่ำทั้งลำไย กะหล่ำปลี  มะเขือเทศ อาจกล่าวได้ว่า ตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ เมื่อเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้คนที่ไม่เคยได้รับสิทธิอยู่แล้วต้องตกเป็นคนชายขอบ และเป็นกลุ่มคนลำดับท้าย ๆ ในสังคมนี้ที่ภาครัฐจะนึกถึงและช่วยแก้ปัญหา

“แท้ที่จริงแล้ว ชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีศักยภาพสูงมากในการผลิตอาหารปลอดสารเคมี ดังจะเห็นได้จากที่หลายชุมชนปกาเกอะญอในภาคเหมือนได้เริ่มระดมพืชผลทางการเกษตรในไร่หมุนเวียนและป่าชุมชนช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมืองในจังหวัดเชียงใหม่  แต่กลับกันในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนั้น ถ้าถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนวิถีการผลิตก็แทบจะยืนด้วยตนเองได้ยาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติหากกลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตบนฐานต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง”

สัปดาห์หน้า กลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย จะระดมมะเขือเทศและพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ที่ราคาตกต่ำ มาร่วมสมทบกับโครงการ “ปั๋นอิ่ม” และ “สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการที่นำอาหารจากกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงแบ่งปันสู่คนจนเมืองและคนไร้บ้าน เพื่อช่วยเหลือกันในยามวิกฤต และสื่อสารเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์สู่สังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ