อภ. ชะลอสั่งซื้อชุดตรวจ ATK แล้ว หลัง “แพทย์ชนบท” ติงคุณภาพต่ำ

บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ชนะประกวดราคา 70 บาทต่อชุด แต่เป็นยี่ห้อที่ อย. สหรัฐฯ เรียกคืนเพราะไม่ได้มาตรฐาน แต่ผ่าน อย. ไทย “รองเลขาฯ อย.” แจงให้ รร.แพทย์ ทดสอบแล้วผ่านเกณฑ์ 

จากกรณี “บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด” เป็นผู้ชนะการประกวดราคาชุดตรวจ ATK เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาเหลือประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐาน

วันนี้ (12 ส.ค. 2564) “ชมรมแพทย์ชนบท” ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน การจัดซื้อชุดตรวจ Antigent test kit หรือ ATK 8.5 ล้านชุด งบประมาณ 1,014 ล้านบาทยี่ห้อที่ชนะการประมูล โดยระบุว่า การจัดซื้อครั้งนี้จะได้ชุดตรวจที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดซื้อครั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม เปิดซองราคา ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม มีผู้ประมูลยื่นซองราคา 19 ราย จากที่เชิญประมูล 24 ราย และได้บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว โดยเป็นชุดตรวจ ยี่ห้อ LEPU (ลีปู) ซึ่งยี่ห้อนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังถูกเรียกคืน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.​ 64 ตามคำสั่ง องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะความแม่นยำ ชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจคัดเลือกครั้งนี้ อาจพิจารณาจากราคา แต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ ที่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก

อภ.รอผลตรวจสอบคุณภาพเพิ่มเติ่ม

วันเดียวกัน “นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ตามที่บางหน่วยงานมีความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจ และมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า องค์การฯ จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน โดยองค์การฯและ อย. จะเร่งตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์  ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป 

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวทุกขั้นตอน เป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม

ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเองยี่ห้อ LEPU MEDICAL เก็บตัวอย่างทางโพรงจมูก

สปสช. เผย ต้องการจัดซื้อแบบเจาะจง 

“นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ” ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อรองราคา สปสช.จับตาการประมูลคัดเลือกบริษัทนำเข้าชุดตรวจ ATK ด้วยความกังวลใจว่า คนไทยจะได้ใช้ ชุดตรวจที่ไม่มีคุณภาพ แม้จะมีการเปิดซองประมูลเพื่อแข่งขัน และยี่ห้อที่ผ่านการคัดเลือก ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย.แล้ว แต่ในบางประเทศ กำลังเรียกส่งคืนห้ามใช้ จึงเป็นที่มาว่าทำไม สปสช.ถึงต้องการจัดซื้อแบบเจาะจง หรือ ล็อกคุณสมบัติเท่านั้น

ขณะที่ “นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการ สปสช . ระบุถึงกรณีคุณภาพของชุดตรวจ ATK จะตรงตามที่องค์การอนามัยโลกรับรองหรือไม่ เป็นหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม และทีมวิชาการที่ต้องประเมินผลต่อไป  ก่อนหน้านี้ทีมแพทย์ชนบท เคยเสนอให้องค์การเภสัชกรรม เร่งจัดหาชุดตรวจ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้อย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากดำเนินการตามข้อเสนอ ทีมแพทย์ชนบท เชื่อว่า ขณะนี้จะมีชุดตรวจ 1 ล้านชุด และจะมีประชาชนอีก 1 แสน 5 หมื่นคนได้เข้าถึงบริการชุดตรวจ ATK แม้จะยังไม่มีคำอธิบายจากองค์การเภสัชกรรม เกี่ยวกับข้อสังเกตชุดตรวจที่ชนะการประมูล 8 ล้าน 5 แสนชุด

อย. แจง ให้โรงเรียนแพทย์ทดสอบแล้วผ่านเกณฑ์

“นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยว่า เกณฑ์การพิจารณาของ อย.แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน โดย อย.ไทยใช้เกณฑ์พิจารณาจากเอกสารข้อมูล และได้ให้สภาเทคนิคการแพทย์ ช่วยดูรายละเอียดนอกจากนี้ยังเพิ่มเติมเกณฑ์คือ ให้บริษัทที่ขอยื่นจดทะเบียนซึ่งมี 29 บริษัท นำตัวอย่างชุดตรวจ ATK มาให้ทดสอบ ซึ่ง อย.ได้ขอให้โรงเรียนแพทย์ทดสอบ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และศิริราชทดสอบว่ามีความไว ความจำเพาะ ตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งทุกยี่ห้อผ่านเกณฑ์ ได้รับการขึ้นทะเบียน

หลังการอนุมัติแล้วยังมีการติดตามผลการใช้งานเป็นระยะ ทั้งอาหาร ยาผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ชุดตรวจ ATK รวมทั้งรับข้อร้องเรียนจากประชาชนที่นำไปใช้ด้วย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรผิดปกติ

ส่วนประเด็นที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA  เรียกคืนชุดตรวจนี้หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่า เรียกคืนเพราะยังไม่ขึ้นทะเบียน เป็นการลักลอบนำเข้า เมื่อไม่มีการขึ้นทะเบียน แสดงว่ายังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ เช่นเดียวกับ อย.ไทย หากพบยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ถือว่า เป็นยาปลอม ถ้านำไปใช้จะเป็นอันตราย ไม่สามารถบอกได้ว่า ของที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นของดีได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS