ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงพื้นที่ จ.ลำปาง, แม่ฮ่องสอน หลายชุมชน ร่วมระดมผลิตผลจากไร่หมุนเวียน ป่าชุมชน ส่งต่อวัตถุดิบ พืชอาหาร เพื่อกลุ่มเปราะบาง คนตกงาน เข้าไม่ถึงอาหารในภาวะวิกฤติโควิด-19 ใน จ.เชียงใหม่ ตอกย้ำศักยภาพคนอยู่กับป่า ส่งต่อความมั่นคงอาหารถึงคนเมือง
จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จ.เชียงใหม่ (1ส.ค.64) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 59 คน ผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาในโรงพยาบาล 876 คน รักษาหายแล้ว 4,646 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 5,579 คน แม้สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงหากเทียบกับจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ด้วย จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ลูกจ้าง แรงงานตกงานจำนวนมาก
สอดคล้องกับข้อมูลจาก บ้านเตื่อมฝัน คนไร้บ้าน ที่เดินหน้าโครงการ “ปันอิ่ม” นำอาหารมอบช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ คนจนเมือง, คนไร้บ้าน, กลุ่มชาติพันธุ์ในเมือง และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ผ่านการเปิดจุดประสานงาน 3 จุด คือ บริเวณข่วงประตูท่าแพ, กาดหลวง และประตูช้างเผือก พบว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มปันอิ่ม ทำอาหารช่วยเหลือคนไร้บ้านตามที่สาธารณะทั้ง 3 จุด ใน 3 วัน คือจันทร์ พุธ และศุกร์ วันละประมาณ 60 ชุด แต่ในเดือนกรกฎาคม เห็นชัดเจนว่า มีคนมาต่อแถวรับอาหารมากขึ้น จนต้องเพิ่มจำนวนเป็นวันละกว่า 150 ชุด ให้กับคนจนเมือง คนตกงาน ขาดรายได้ ประสบปัญหาปากท้องและการเข้าถึงอาหาร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้น ทำให้วัตถุดิบ อาหารเพื่อนำมาแบ่งปันกันในยามวิกฤต เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหาร
“ชาวกะเหรี่ยง จ.ลำปาง” ระดมผลผลิต ปันอาหาร ช่วยคนจนเมือง-คนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จ.ลำปาง 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ส้าน และชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ระดมพืชผัก อาหารจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนและพื้นที่ป่าชุมชน นำไปแบ่งปัน ช่วยเหลือคนจนเมืองใน จ.เชียงใหม่ ยืนยันศักยภาพการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์ที่ต้องปิดชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
กิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และ สกน. ตามโครงการ “สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน” เพื่อระดมพืชอาหารจากชุมชนชนบทที่มีฐานการผลิตแบ่งปันไปยังโครงการ “ปันอิ่ม”
จารุณีย์ รักษ์สองพลู ชาวกะเหรี่ยงพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง บอกว่า ระดมอาหารจากไร่หมุนเวียนและป่าชุมชน บนพื้นที่จัดการทรัพยากรโดยชุมชนขนาด 23,000 ไร่ ซึ่งทุกปีชาวบ้านกลางได้ระดมพืชอาหารช่วยเหลือคนในเมืองอยู่ตลอด เช่น ในพื้นที่ลำปาง ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี และรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์ รวมถึงที่อื่นๆ ที่ต้องการรับบริจาค โดยเฉพาะในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในขณะนี้
“ตอนนี้ทุกคนลำบากกันหมด โดยเฉพาะคนที่ทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง แทบจะเรียกได้ว่าเรื่องอาหารเขาต้องพึ่งพาค่าจ้างค่าแรงทั้งหมด เขาไม่มีเงินเพราะไม่มีงาน ไม่มีอาหารกิน ในฐานะที่เราอยู่ในป่า อยู่ดอย มีพื้นที่ผลิตของตัวเองแม้ไม่ถูกกฎหมาย แต่เราก็มีอาหารของตัวเอง เราก็คิดว่ามันพอเพียงต่อชีวิตเราแล้ว การแบ่งปันให้คนอื่นเป็นเรื่องที่สำคัญ เราไม่ได้ผลิตแค่เพื่อตัวเอง เราผลิตเพื่อแบ่งปันให้คนอื่นในยามที่มีเหตุการณ์ที่ทุกคนลำบาก”
ชาวบ้านกลาง ยังย้ำว่า ที่ผ่านมาแม้การอยู่อาศัยและทำกินอยู่บนดอย จะถูกเข้าใจผิดและตกเป็นจำเลยของสังคมในช่วงฤดูกาลฝุ่นควันไฟป่า แต่ในเวลานี้รู้สึกภูมิใจที่ได้แบ่งปัน และหวังว่าสังคมจะเห็นศักยภาพของชุมชนชาติพันธุ์ในการจัดการตนเอง
“เราถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่เราอยู่บนดอย แม้เราจะถูกเหยียดว่าเราเป็นคนล้าหลัง พัฒนาช้า แต่ในสถานการณ์โควิด เรารู้สึกว่าเราดีใจมากเลยที่เราอาศัยบนดอย เรามีไร่หมุนเวียน มีนา อย่างน้อยที่สุดเราก็มีข้าวกิน อย่างน้อยที่สุดเราก็มีงานทำคืองานในไร่ เรายังมีป่าที่หาอาหารได้ตลอด ซึ่งทำให้เราไม่ได้ขาดแคลน คือตัวเงินเราอาจไม่ได้แต่เรื่องทรัพยากรอาหารเราพูดได้เต็มปาก ว่าเราไม่ได้ขาดแคลนเลย เรามีเหลือเฟือด้วยซ้ำไป และภูมิใจที่ได้นำไปแบ่งปันให้ผู้ที่กำลังเดือดร้อนในเวลานี้ ”
แก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยืนยันว่า ชุมชนมีศักยภาพผลิตอาหารที่สูงมาก ในพื้นที่จัดการทรัพยากรโดยชุมชน 18,000 ไร่ เพราะมีระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงดีใจที่ได้ใช้ศักยภาพและต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนในเมือง
“เราจะมีไร่หมุนเวียนที่เราปลูกไว้กินในชุมชน มีผัก ผลไม้ พืชผักหลายชนิดที่จะเอามากินในชุมชน แต่ปีนี้รู้สึกว่าเป็นพิษโควิด-19 พี่น้องพื้นราบก็ลำบาก พวกเราเลยช่วยกันระดมแบ่งปันน้ำใจให้พี่น้องพื้นราบด้วย แบ่งให้พี่น้องต้องกักตัวอยู่ในบ้านไม่มีอะไรกิน เราก็เอาของพวกนี้จากไร่หมุนเวียนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มาแบ่งปันให้ชุมชนอื่นด้วย พี่น้องในเมือง พี่น้องพื้นราบก็ลำบากมาก ออกไปไหนไม่ได้ จะต้องกักตัวอยู่เพื่อป้อง ไม่ต้องห่วงนะครับ เรื่องอาหารการกิน ข้าวสาร พวกเรายินดีช่วยตลอด พี่น้องบนดอยมีน้ำใจจะแบ่งปันให้เสมอ”
ชุมชนบ้านแม่ส้านและบ้านกลางนั้นเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และยังอยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยร่วมกับ สกน. และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยชุมชนหวังว่า การแสดงศักยภาพของชุมชนครั้งนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมต่อชุมชนชาติพันธุ์ และเกิดการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป
ย้ำศักยภาพ “ไร่หมุนเวียน” ส่งต่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อคนเมือง
ขณะที่วานนี้ (31ก.ค.64) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน 5 ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่หาด, บ้านแม่คะ, บ้านแม่อุมโละ, บ้านแม่แพหลวง และ บ้านกอเบคี ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระดมพืชอาหารร่วมแบ่งปันให้คนเมืองเชียงใหม่ ที่กำลังสู้ภัยการแพร่ระบาดของโควิด-19
เอกราช วิมานตระการ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า ในช่วงโควิด-19 นั้น ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังคงมีระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนและยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าได้ จึงสามารถจัดการตนเองในชุมชนด้วยการปิดหมู่บ้านแล้วอยู่อาศัยบนฐานทรัพยากรของตนเอง และยังมีเหลือเฟือจะแบ่งปันช่วยเหลือเครือข่ายชาวบ้านในเมืองที่ขาดแคลนอาหาร
“พวกเราคือพี่น้อง สกน. แม่ฮ่องสอนที่อยากจะบริจาคช่วยพี่น้องในเมือง จริง ๆ พี่น้องสมาชิก สกน. แม่ฮ่องสอนเราไม่ได้รับบริจาคทั้งหมด เนื่องจากช่วงนี้โควิดระบาด มีอีกหลายหมู่บ้านที่เรายังประสานไม่ได้ในช่วงนี้ จะมีทั้งข้าวสาร และพืชผักอื่น ๆ พื้นที่ของเราก็มีความมั่นคง โดยการทำไร่หมุนเวียนและปลูกพืชสวนอื่น ๆ แม้โควิดจะราดบาด แต่เรามีพืชผลการเกษตรและข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตพี่น้องของเรา นี่คือความยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทั้ง 5 ชุมชนเผชิญกับสถานการณ์การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ที่ยังมีแนวเขตทับซ้อนกับชุมชน ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา และจะยืนยันต่อสู้ต่อไปเพื่อสิทธิในที่ดินทำกินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของชุมชนต่อไป
สำหรับพืชอาหารที่ระดมมาจากชุมชนชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอน ถูกแจกจ่ายตามรายทาง หนึ่งในนั้นคือชุมชนบ้านห้วยม่วง ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินภายหลังถูกบังคับโยกย้ายชุมชน จึงยังไม่มีพืชผลทางการเกษตรที่เก็บกินในครัวเรือนได้ นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีชาวบ้านได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว 15 คน ทำให้ชุมชนถูกประเมินเป็นพื้นที่สีแดง และต้องปิดชุมชน
ศักยะ ตั้งอยู่ ชาวบ้านห้วยม่วง บอกว่า ตอนนี้ปิดหมู่บ้าน ตลาด ร้านค้า ชาวบ้านก็อาศัยอาหารจากการรับบริจาคในรูปแบบถุงยังชีพ หรือเป็นการสนับสนุนจากอดีต ส.ส. ในพื้นที่ รวมทั้งเทศบาล และสภากาชาด แต่จะเป็นถุงยังชีพสำหรับคนที่มีคำสั่งให้กักตัวเท่านั้น ไม่ได้รวมทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดหมู่บ้าน แต่คนในหมู่บ้านนี้จะได้รับความเดือดร้อนมากกว่า เพราะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ
“ก็เข้าใจด้วยปริมาณและจำนวนของสิ่งของที่ต้องเอามาบรรเทาจ่ายแจก ด้วยสถานการณ์นี้มันเกิดการระบาดแพร่ไปในวงกว้าง ผู้ติดเชื้อเยอะ แต่ของมันมีไม่เยอะ มันเลยไม่ทั่วถึง เราก็เข้าใจว่ามันคงมีหลายหมู่บ้าน หลายคน หลายครอบครัวที่ต้องถูกกักตัว ตอนนี้ความเดือดร้อนมันไม่ได้เดือดร้อนแค่คนที่ต้องกักตัว แต่ทั้งหมู่บ้านเขาทำมาหากินไม่ได้ จะไปทำงานข้างนอกพอเขารู้ว่าเราอยู่ที่นี่เขาก็เชิญให้กลับบ้านเลย พอรู้ว่าเป็นหมู่ 11 ต.สบเตี๊ยะ ลูกสาวผมไปทำงานล้งลำไย พอมีประกาศปิดหมู่บ้าน พอเขาเห็นบัตรตอกเขาก็เชิญกลับบ้านและแจ้ง อสม. ผู้ใหญ่บ้านให้มาตรวจเชื้อเลย บางรายติดต่อธนาคาร ธกส. เขาจะลิสต์หน้า ธกส. เลยว่าหมู่บ้านนี้เป็นสีอะไร เข้าได้หรือไม่ได้ เขาปฏิเสธการให้บริการเราเลย”
ชาวบ้านห้วยม่วง มองว่า ความช่วยเหลือและการแบ่งปันจากชุมชนในเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือนั้นมีคุณค่าทั้งต่อร่างกายและจิตใจ และไม่ได้รู้สึกเสมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลังแม้รัฐจะเยียวยาไม่ทั่วถึง
“บางทีเราก็น้อยใจ ของมา แต่มันไม่ทั่วถึง เขาแจกให้เฉพาะถุงยังชีพเฉพาะคนที่ต้องกักตัว แต่คนอื่นก็เดือดร้อนทั้งหมู่บ้าน ร้านค้าก็ปิด งานก็ไม่มี พอได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องเราเองเราก็อิ่มท้องและอิ่มใจมาก ข้าวที่เขาให้มาเราเอามาหุงกินกัน มื้อนั้นเราจะไม่ได้แค่อิ่มท้อง แต่มันอิ่มเอมใจ ดีใจ บอกไม่ถูก ความรู้สึกช้อนหนึ่งที่ตักเข้าปากมันมีความหมายมาก มีความรู้สึกดี ความห่วงใย ความอาทรจากพี่น้องเรา”
ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ภาคประชาชนได้พยายามช่วยเหลือดูแลแบ่งปันเพื่อให้เพื่อนมนุษย์ที่ประสบปัญหาปากท้องได้เข้าถึงอาหารที่เพียงพอ แต่อีกด้านก็สะท้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมสนับสนุนดูแลแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงหนุนเสริมศักยภาพของชุมชนที่มีทุนทางวิถีวัฒนธรรม ให้มีความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับวิกฤตในปัจจุบันและอนาคต