“ไทยพีบีเอส” ต่อยอดโอกาสทางการศึกษา “เด็กเปราะบาง” ลดความเสี่ยงหลุดจากระบบ

สำรวจชุมชนเมืองย่านบางซื่อ พบเด็ก เยาวชน กว่า 30 คน ส่วนใหญ่ครอบครัวแตกแยก รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่ำ ส่งผลต่ออนาคต มองไม่เห็นโอกาสเรียนต่อ

มูลนิธิไทยพีบีเอส ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ในนามของ “ไทยพีบีเอส” มอบเงินสมทบทุนการศึกษาทางไกล อุปกรณ์การเรียน แก่เด็ก-เยาวชน ในชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้าง เขตบางซื่อ กทม. หลังพบว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ฐานะยากจน และเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา

ก่อนหน้านี้ TheActive ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ และผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กภายในชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้าง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 พบว่า เด็ก เยาวชน 30 คน ในชุมชนแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็น “เด็กกลุ่มเปราะบาง” ครอบครัวแตกแยก ต้องอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยชรา มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องถึงโอกาสทางการศึกษาของพวกเขา



วาศิณ วงศ์แสงจันทร์ วัย 12 ปี เล่าว่า การเปิดเทอมครั้งนี้ ครอบครัวของเขาต้องไปหยิบยืมเงินจากคนรู้จัก เพื่อมาจ่ายค่าเทอม เพราะรายได้ไม่พียงพอ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถส่งเสียให้เรียนต่อจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้หรือไม่ แม้ว่ารัฐจะมีเงินอุดหนุนให้เรียนฟรี แต่การศึกษาก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียน รวมแล้ว 3,000 – 4,000 บาทต่อเทอม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขามองไม่เห็นอนาคต


หนูไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อ ม.1 ไหม เพราะที่บ้านไม่ค่อยมีตัง พ่อทำงานคนเดียว แม่ไม่ค่อยสบาย แม่ต้องไปยืมเงินมาจ่ายค่าเทอมให้หนู และ หนูมีโรคประจำตัวคือหอบหืด หนูไม่อยากให้พ่อแม่ลำบาก


ขณะที่ มณีรัตน์ อาจณรงค์ วัย 9 ปี เขียนจดหมายถึงทีมข่าว ข้อความระบุว่า พ่อกับแม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่ยังเด็ก จึงต้องอาศัยอยู่กับตาและยาย ทั้งคู่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งครอบครัวจึงใช้ชีวิตด้วยรายได้ทั้งหมดของแม่เลี้ยงเดี่ยว ด้วยฐานะที่ขัดสน ยังทำให้ต้องแยกจากพี่น้อง เพื่อให้น้องสาวได้รับการอุปการะที่ดีกว่าจากครอบครัวอื่น

สำหรับการขาดโอกาสทางการศึกษา และการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง ทำให้ “เด็กกลุ่มเปราะบาง” ส่วนหนึ่ง ประสบปัญหาทางการเรียน คุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานหากเทียบจากช่วงวัย และระดับชั้นทางการเรียน เช่น เขียนภาษาไทยไม่คล่อง สะกดคำผิดในคำศัพท์พื้นฐานทั่วไป

ขณะนี้ไทยมีเด็กยากจนพิเศษ ประมาน 1.1 ล้านคน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ราว 50,000 คน หนึ่งในนั้นคือเด็ก-เยาวชน ในชุมชนแออัดแห่งนี้ การช่วยเหลือจากทุกฝ่ายแม้เป็นเพียงการเยียวยาเฉพาะหน้า แต่ก็ถือเป็นความหวังเพื่อช่วย “ลดความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคม และ “ส่งเสริมการศึกษา” ให้กับเด็ก เยาวชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้