“เดลต้าระบาด” มาเร็วกว่าที่คิด แพทย์ห่วง มีผลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 4-5 พันคน

ชี้ เป็นตัวแปรหนึ่งของการระบาดระลอก 4 แนะ กทม. ต้องเร่งควบคุมโรค มากกว่าการขยายเตียงในโรงพยาบาล ‘หมอนิธิพัฒน์’ เผย ให้แพทย์จบใหม่เสริมทัพกรุงเทพฯ ต้องถามความสมัครใจ

28 มิ.ย. 2564 – รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยข้อมูลจากการสุ่มตรวจผู้ป่วยโควิด-19 ในหอผู้ป่วยไอซียูโควิด-19 แห่งแรกของ รพ.ศิริราช เมื่อช่วง 10 วันที่แล้ว พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ประมาณ 30% พร้อมคาดว่าวันนี้ (29 มิ.ย.) น่าจะเกินครึ่งไปแล้ว โดยสัปดาห์นี้จะส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อดูว่าจะพบคิดเป็นสัดส่วนเท่าไร

รศ. นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า สายพันธุ์นี้นอกจากจะแพร่ได้ง่ายไปสู่ทั้งเด็ก คนท้อง และคนชรา ยังอาจจะทำให้เกิดปอดอักเสบได้เร็วและแรงกว่าสายพันธุ์เดิมที่คุ้นเคย

“นี่เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เรียกการระบาดช่วงนี้เป็นระลอกสี่ และเป็นตัวชี้ขาดหนึ่งในความยากง่ายของการควบคุมโรค ภายหลังเริ่มใช้มาตรการต่าง ๆ ที่เผยโฉมให้ชัดเจนวันนี้”

ขณะที่สถานการณ์เตียงในหอผู้ป่วยไอซียูโควิด-19 ของ รพ.ศิริราช ปัจจุบันได้มีการขยายเตียงจากเดิมที่มีเพียง 7 เตียง เป็น 19 เตียง และต้องรับผู้ป่วยเต็มจำนวนมาเกือบตลอดเดือน

ส่วนกรณีที่มีแนวคิดจะนำแพทย์จบใหม่มาเสริมกำลังรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่กรุงเทพฯ นั้น รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เห็นว่า ควรเป็นไปด้วยความยินยอมของตัวแพทย์จบใหม่ หัวหน้างาน และประชาชนในพื้นที่ ที่หวังว่า แพทย์เหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้ว จะได้กลับไปดูแลหลังจบการศึกษา

“การแก้ไขหลักของสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ต้องเน้นการควบคุมโรคให้อยู่หมัด มากกว่าการขยายเตียงโควิดในโรงพยาบาลต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด”

ด้าน ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล ระบุว่า การระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงถึงวันละ 4,000 – 5,000 คน มาเร็วกว่าที่คิด

“ต้องยอมรับว่าเรื่องหนึ่งที่คาดผิดเกี่ยวกับ Delta variant คือ ผมคาดว่าการระบาดของ Delta น่าจะทำให้ไทยเห็นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 4,000-5,000 คน ในเดือน ก.ค.-ส.ค. แต่ไม่คิดว่ายอดนี้จะมาถึงในปลายเดือน มิ.ย. นี้เลย”

ศ. นพ.มานพ กล่าวว่า ถ้าไม่มีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ ไม่มีการปูพรมวัคซีนเป็นวงกว้าง ยอดการติดเชื้อนอกจากจะไม่ลดลงแล้ว เราสามารถคาดการณ์ได้ว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นอีก ด้วยเหตุผลสำคัญคือเชื้อสายพันธุ์เดลต้า มี transmission advantage เหนือกว่าสายพันธุ์หลักอื่น ๆ ทุกชนิด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ที่ระบาดอยู่เดิม

โดยคาดว่าสัดส่วนของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 2-3 สัปดาห์ หมายความว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะเห็นสายพันธุ์เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลักของกรุงเทพฯ และอาจจะเป็นของประเทศด้วย

ศ. นพ.มานพ คาดการณ์ด้วยว่า เมื่อสายพันธุ์เดลต้าระบาดเพิ่มขึ้นในประเทศไทยจนเป็นสายพันธุ์หลักหรือมีสัดส่วนใกล้ 100% คล้ายสถานการณ์การระบาดที่อังกฤษซึ่งระบาดอยู่ที่ 95% และทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ในอังกฤษต่อวันเพิ่มขึ้นราว 3 เท่า ซึ่งประเทศไทยก็อาจเดินไปในทิศทางเดียวกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว