จับมือเคลียร์ปมวัคซีน ‘กทม.’ ย้ำ คนถูกเลื่อน ไม่ต้องวนคิวใหม่

ศบค. สธ. กทม. แจง “ไม่ได้ขัดแย้ง” ขอโทษประชาชนที่เลื่อน ‘กทม.’ ยืนยัน ได้รับวัคซีนเมื่อไร จะฉีดวันรุ่งขึ้นทันที ชวนย้อนดูสัญญาณติดขัด เบรกหลายคำสั่งสำคัญ

ภาพประตูรั้วสวนสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ยังถูกปิดอยู่ กลายเป็นภาพที่มีการแชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เพราะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha เมื่อช่วงค่ำของวันก่อนหน้า (13 มิ.ย.) ว่า ให้เปิดสถานที่ 5 ประเภท โดยหนึ่งในนั้นคือ สวนสาธารณะ และสวนพฤกษศาสตร์ต่าง ๆ

ภาพ : ทวิตเตอร์ @tanawatofficial

แม้ต่อมา จะมีคำอธิบายว่า เนื่องจากสวนสาธารณะอยู่ในอำนาจการดูแลของ กทม. การเปิดหรือปิด จึงต้องรอให้มีคำสั่งอย่างเป็นทางการจาก กทม. เท่านั้น

ช่วงเที่ยงของวันที่ 14 มิ.ย. จึงเห็นภาพของ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศบค.ชุดเล็ก จูงมือ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. และ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงสยบข่าวขัดแย้ง โดย พลตำรวจเอก อัศวิน ยืนยันว่า กทม. จะเปิด 5 สถานที่ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแน่นอน โดยจะมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้ (14 มิ.ย.)

แน่นอนว่า เชื้อไฟจากเรื่องนี้ ก็ยิ่งไปเติมภาพความขัดแย้งระหว่าง ศบค. สธ. และ กทม. ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น ที่ประชาชนจับสัญญาณได้ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 12 มิ.ย. ต่อเนื่องถึงช่วงเช้า 13 มิ.ย. ที่เกิดปรากฏการณ์ “โต้เถียง – โยนกลอง” ระหว่าง กทม. และ สธ. ในเรื่องการจัดสรรวัคซีน จากการที่หลายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ต้องประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในช่วงต้นสัปดาห์นี้ จนกลายเป็นข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ

ศบค. – สธ. – กทม. จับมือเคลียร์ปัญหาจัดสรรวัคซีน

ไม่ใช่แค่เรื่องเปิด – ไม่เปิดสวนสาธารณะ แต่อีกไฮไลท์ของการแถลงร่วมกันระหว่าง ศบค. – สธ. – กทม. คือ การเคลียร์เรื่องการกระจายวัคซีนที่เป็นปัญหาร้อนแรงระหว่าง กทม. และ สธ.  ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

พลตำรวจเอก อัศวิน ผู้ว่า กทม. แถลงว่า วัคซีนสำหรับฉีดให้ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 7-14 มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งให้ กทม. จำนวน 500,000 โดส แบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 350,000 โดส และซิโนแวค 150,000 โดส โดยซิโนแวคเน้นนำมาใช้เป็นเข็มที่ 2

ส่วนแอสตราเซเนกา กทม. ได้แบ่งกระจายไปสำหรับผู้ที่จองคิวผ่านหมอพร้อมเข็มแรกจำนวน 182,000 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 52,000 โดส รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 8,000 โดส และให้ผู้ลงทะเบียนโครงการ “ไทยร่วมใจ” อีกจำนวน 100,000 โดส โดยคาดหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาก่อนวันที่ 14 มิ.ย. แต่ปรากฏว่า อาจเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคของผู้จัดส่ง กระทรวงสาธารณสุขจึงยังไม่ได้รับวัคซีนจำนวนดังกล่าว

ส่วนการแก้ปัญหา กทม. ได้แจ้งผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. เพื่อขอเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน โดยหากได้รับวัคซีนจะดำเนินการฉีดให้ประชาชนทันที โดยคนที่มีคิว 15-20 มิ.ย. หากเสียสิทธิยังไม่ได้รับการฉีด แล้ววัคซีนมาวันที่ 21 มิ.ย. คนที่มีคิวในวันที่ 15 – 20 มิ.ย. จะได้ฉีดก่อนคนอื่น โดยไม่ต้องวนคิวไปต่อท้าย

พลตำรวจเอก อัศวิน ระบุอีกว่า สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนจองคิวในช่วงวันที่ 15-20 มิ.ย. แบ่งเป็นหมอพร้อม จำนวน 140,000 คน และไทยร่วมใจ 170,000 คน รวม 320,000 คน ซึ่ง กทม. ได้แจ้งอธิบดีกรมควบคุมโรคแล้ว

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้ง มีแต่ สธ. จะช่วย กทม. เบื้องต้น กทม. ได้รับวัคซีนเมื่อไรจะฉีดวันรุ่งขึ้นทันที”

ศบค. ยืนยันไม่ขัดแย้ง ขอโทษประชาชนที่เลื่อน

ด้าน พลเอก ณัฐพล  ระบุว่า รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีน 100 ล้านโดส ให้ประชาชนไทย แบ่งเป็น ซิโนแวค 8 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จำนวน 5 ล้านโดส รวมเป็น 94 ล้านโดส และกระทรวงสาธารณสุขยังจัดหาเพิ่มเติมต่อเนื่อง ยืนยันว่า วัคซีนมีเพียงพอต่อประชากรตามเป้าหมาย ในปี 2564 อย่างแน่นอน

“การจัดสรรวัคซีนมีการเตรียมการล่วงหน้า แต่เมื่อวัคซีนคลาดเคลื่อนเข้ามาตามแผน ก็ต้องมีการเลื่อนฉีดกันบ้าง ต้องขออภัยประชาชนด้วย”

ส่วนในภาพรวมยังเป็นไปตามกำหนดการเดือน มิ.ย. ที่จัดสรร 6 ล้านโดส ยังเป็นไปตามแผน โดยทยอยจัดส่งเป็นงวด ๆ ดังนั้น การส่งเข้ามาราชอาณาจักร บริษัทก็ไม่ได้ผิดสัญญา เพราะยังอยู่ในกรอบของเดือน มิ.ย. ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการแก้ปัญหาไว้แล้ว แม้จะเลื่อนวันไปบ้าง แต่หากวัคซีนเข้ามา ผู้ว่าฯ กทม. ก็ยืนยันว่า คนที่ถูกเลื่อนไปจะได้ฉีดก่อน

ด้าน นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ได้มีการเน้นให้มีการฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนก่อน โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดจองการฉีดวัคซีนหมอพร้อมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ วัคซีนยังใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้เป็นวัคซีนในท้องตลาด ซึ่งการสั่งซื้อและการจองจะต้องผลิตและจัดส่งทันที ดังนั้น บริษัทวัคซีนที่มีสัญญาจะต้องทยอยส่งเป็นงวด ๆ ตามสัญญาที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังมีการฉีดให้กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ครู บุคลากรทางการศึกษา คนทำงานขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ กลุ่มแรงงาน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยในเดือนมิถุนายน วางแผนไว้ 2 งวด ครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ งวดแรก โดยในวันที่ 7-20 มิ.ย. จะมีการจัดส่งวัคซีนไปประมาณ 3 ล้านโดส

ประกอบด้วย ซิโนแวค 1 ล้าน แอสตราเซเนกา 2 ล้านโดส จัดส่งไปยัง กทม. 5 แสนโดส แยกเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา 3.5 แสนโดส ซิโนแวค 1.5 แสนโดส ส่วนประกันสังคม 3 แสนโดส ซึ่งฉีดใน กทม. เป็นหลัก ขณะที่กลุ่มของมหาวิทยาลัย 1.5 แสนโดส ฉีดใน กทม. เป็นหลักเช่นกัน

ส่วนคนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมในต่างจังหวัด จะมีการจัดส่งวัคซีน 1.1 ล้านโดส ไปตามจุดฉีดต่าง ๆ ขององค์กรภาครัฐ เช่น กลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหารตำรวจในการกักกันผู้ป่วยอีก 1 แสนโดส พร้อมทั้งจัดวัคซีนรองรับการระบาด ส่วนงวดที่ 2 จะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุด 21 มิ.ย. – 2 ก.ค. เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา 1.5 ล้านโดส

เปิด – ไม่เปิด ร้านอาหาร เรื่องไม่เคยลงรอยระหว่าง ศบค. – กทม. 

แม้ความขัดแย้งรอบนี้จะคลี่คลายลงเพียงในไม่กี่วัน แต่นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งครั้งแรกระหว่าง 3 หน่วยงานหลักในสถานการณ์โควิด-19

The Active ชวนย้อนดูสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาอีกครั้ง หากนับเฉพาะปี 2564 ก็เริ่มกันตั้งแต่ต้นปีในช่วงปลายของการระบาดระลอกสอง เมื่อวันที่ 4 ม.ค. เที่ยงวันนั้น โฆษก กทม. แถลงว่า คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้ร้านอาหารทุกประเภทเปิดให้มีการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ในช่วงเวลา 06.00-19.00 น. และหลังจากนั้นก็ให้บริการแบบซื้อกลับ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-06.00 น.

แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีขอให้ กทม. ยกเลิกคำสั่งห้ามรับประทารอาหารที่ร้านหลัง 19.00 น. ออกไปก่อน โดยให้เปิดได้ถึง 21.00 น. แต่ต้องมีมาตรการที่ทำไว้แล้วเดิม เช่น กำหนดจำนวนคน รักษาระยะห่าง โดยนายกฯ อ้างว่าสมาคมภัตตาคารขอมา เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ถัดมาอีก 4 เดือน เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดซ้ำอีกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ครั้งนี้ ศบค. ไม่ได้ยกเลิก แต่ให้ กทม. เลื่อนการผ่อนปรนมาตรการเปิดสถานประกอบการ 5 ประเภท ออกไปอีก 14 วัน แต่ที่เหมือนกันคือ ศบค. ออกมติหลัง กทม. ออกคำสั่งไปยังไม่ทันข้ามวัน

แต่ความขัดแย้งในมติของทั้งสองหน่วยงานเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็สร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการที่ใช้เงินไปกับความหวังที่จะได้เปิดร้านจำนวนไม่น้อย

“Walk in – ลงทะเบียนหมอพร้อม” เมื่อ ศบค. เห็นไม่ตรงกับ สธ.

และไม่ใช่แค่ระหว่าง ศบค. กับ กทม. แต่ระหว่าง ศบค. กับ สธ. ก็มีหลายครั้งที่มีการ “หักกัน” โดยประเด็นที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ “Walk in” หลังนายกรัฐมนตรี เบรกข้อเสนอของอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอให้ “Walk in วัคซีน” ซึ่งกว่าประเด็นนี้จะยุติ ก็สร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างมาก มีหลายคนที่ Walk in ไปแล้วแต่ถูกปฏิเสธ

เรื่องสุดท้าย คือ การลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม กรณีนี้ไม่ได้ออกคำสั่งหักกัน แต่กลายเป็นมีความเห็นไม่ตรงกัน หลัง สาธิต ปิตตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ ศบค. ชะลอการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” พร้อมเรียกร้องให้ ศบค. ชี้แจงและสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร 

คงต้องติดตามว่า จะมีการสรุปบทเรียนความขัดแย้งล่าสุดระหว่างหน่วยงานหลักเหล่านี้ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ ประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว