แพทย์หนุนกระจายวัคซีนประสิทธิภาพดี ตัดระบาด 4 จังหวัดสีแดงเข้ม ด้าน “นักรัฐศาสตร์” หวั่นจังหวัดอื่นไม่เข้าใจ แนะสื่อสารเหตุผลทางการแพทย์ สร้างฉันทามติร่วม “อนุทิน” ย้ำอีกครั้ง แอสตราฯ ทยอยส่งมอบตามกำหนด
แม้ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะยืนยันว่า ดีเดย์ฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ 7 มิ.ย. นี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่ ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตแรกที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซแอนด์ จะส่งมอบทันตามกำหนดเดิมหรือไม่
14 ล็อต คือตัวเลขที่ได้รับการยืนยันจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะส่งมอบทันฉีดวันที่ 7 มิ.ย. แต่ไม่มีใครรู้ว่า วัคซีน 1 ล็อตมีจำนวนกี่โดสและที่มากไปกว่าจำนวน คือ วัน และเวลาส่งมอบที่ยังไม่มีใครรู้
“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยข้อมูลกับรายการ Active Talk เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ว่า ต้นเดือนมิถุนายนน่าจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกามาเพียง 1.8 ล้านโดส แล้วยังต้องลุ้นต่อไปว่าจะได้ครบ 6 ล้านโดสตามเป้าหมาย ขณะที่โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขยังยืนยัน วันที่ 7 มิ.ย. คือดีเดย์ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมไว้
“โจทย์ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อกระสุนมีน้อยจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คิดว่าจำนวนวัคซีนต้องมีน้อยแน่ ๆ เพราะคงไม่เกิดความวุ่นวายใน ศบค. ขนาดนี้”
เปิดวัคซีน 3 ยี่ห้อ ป้องการกันติดเชื้อ หยุดวงจรระบาด
“นพ.สุภัทร” กล่าวต่อไปว่าวัคซีนเป็นอาวุธในการควบคุมการระบาด จึงเป็นที่มาของข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทที่มองว่าปัจจุบันผู้ติดเชื้อจำนวน 60% มาจาก 4 จังหวัดสีแดง คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงสนับสนุนให้ทุ่มวัคซีนในพื้นที่ระบาดหนักก่อน และสื่อสารกับประชาชนในต่างจังหวัดถึงเหตุผลและความจำเป็นไปพร้อมกัน
สอดคล้องกับ “ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุเช่นกันว่าการปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดงมีจุดประสงค์คือหยุดการระบาด หลายจังหวัดสามารถคุมได้โดยไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ใน กรุงเทพฯ เชื้อแพร่กระจายลงไปอยู่ในชุมชนจนไม่สามารถตามหาไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อได้ มาตรการต่าง ๆ ที่ ศบค. กำหนดออกมาทำได้เพียงกดยอดผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง
“หัวใจสำคัญของการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยวัคซีน คือประสิทธิภาพของวัคซีน กรณีประเทศเซเชลส์ หมู่เกาะในทวีปแอฟริกา ใช้วัคซีนเชื้อตาย ซึ่งประสิทธิภาพไม่สูงถึงขั้นหยุดระบาด”
“ศ.นพ.มานพ” กล่าว่า วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ปัจจุบันมี 3 วัคซีน ที่สามารถทำได้ คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา โดยก่อนหน้านี้ มีองค์ความรู้อีกด้านหนึ่งระบุว่าวัคซีนไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้โรคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา โดยปูพรมฉีดเข็มแรกไปก่อน ยังไม่ได้คำนึงถึงเข็ม 2 เพราะทราบว่าเข็มแรกก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เมื่อฉีดให้กับประชาชนในสัดส่วน 20-25% ปรากฏว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงถึง 80%
“ถ้าถอดบทเรียนประเทศอังกฤษมาใช้กับการตัดวงจรระบาดในกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นที่การใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาให้ได้มีสัดส่วน 20-25% ก็อาจจะหยุดการระบาดได้ โดยอาจจะมีการระบาดอยู่แต่ก็จะไม่มากนัก”
ทั้งนี้ ตัวแปรที่จะควบคุมการแพร่ระบาดขึ้นอยู่กับ 1. ความรวดเร็วในการฉีด 2. จำนวนที่ฉีด ส่วนวัคซีนซิโนแวค ต้องยอมรับว่าใช้เวลานานกว่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ข้อดีพิจารณาจะผลข้างเคียงเหมาะกับกลุ่มอายุ 18-59 ปี ขณะที่แอสตราเซเนกาไม่ค่อยมีผลข้างเคียงกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ปัจจุบันการจัดการโรคระบาดในกรุงเทพมหานครเป็นเพียงพยายาม ประคับประคองสถานการณ์หรือซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ ด้วยการขยายโรงพยาบาลสนามขยายเตียง ICU เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ มาตรการที่มีอยู่ ไม่สามารถกดให้ผู้ติดเชื้อต่ำลง แต่ก็จะไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีการผ่อนมาตรการต่าง ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็อาจมีเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมได้
ด้าน “นพ.สุภัทร” ประเมินว่าหากวัคซีนแอสตราเซเนกามาจำนวนน้อยเพียง 1.8 ล้านโดสจริง การทุ่มวัคซีนในพื้นที่ระบาดสีแดงกรุงเทพมหานคร นั่นหมายถึงฉีดให้กลุ่มเสี่ยงก่อน คือ ผู้สูงอายุ และ กลุ่มโรคเรื้อรัง เป็นอันดับแรกเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตห้องไอซียู
“ปัญหาคือถ้าวัคซีนมาจำนวนเพียง 1.8 ล้านโดส จะกระจายจะแบ่งอย่างไรและที่สำคัญคือจะมาตอนไหน ทุกวันนี้ก็ยังตอบไม่ถูก เวลาประเมินสถานการณ์ก็ประเมินความเสี่ยงตามข้อมูลที่มี”
อย่างไรก็ตาม “นพ.สุภัทร” มองว่าในต่างจังหวัดยังสามารถใช้วิธีการควบคุมโรคแบบดั้งเดิมแม้ไม่มีวัคซีน คือการกักตัว สอบสวนโรค หรือปิดชุมชนเล็ก ๆ ยังพอทำได้ แต่บริบทต่างกับกรุงเทพมหานคร ข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ที่ผ่านมาส่งหนังสือถึงรัฐบาล แม้จดหมายอย่างดีก็มักถูกทิ้งไว้ในลิ้นชัก แต่เมื่อข้อเสนอเหล่านั้นถูกเปิดเผยต่อสาธารณะถ้าเป็นข้อเสนอที่ดี ก็จะมีคนสนับสนุน แต่หากเป็นข้อเสนอที่ไม่ดี คนก็จะไม่เห็น มาถึงวันนี้ศบค. คงรับทราบข้อเสนอแล้ว อยู่ที่ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
หนุน อบจ. กระจายวัคซีนทางเลือก
เมื่อเห็นความจำเป็นทางการแพทย์ที่มีต่อแผนกระจายวัคซีนเน้นพื้นที่ระบาดหนัก ขณะที่วัคซีนยังมีจำกัด อาจไม่สามารถกระจายไปต้องทั่วประเทศ “รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว” อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิการจองของกลุ่มเป้าหมายแรก 16 ล้านคน ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“โจทย์ใหญ่คือการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ขอสละ เพื่อการฉีดในพื้นที่ระบาดก่อน แต่สิทธิต้องไม่หายไปไหน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. เป็นทางออกของการกระจายวัคซีนในส่วนภูมิภาค แต่ก็ติดข้อกฎหมายต่าง ๆ ศบค. ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการโรคระบาดในขณะนี้ ควรเร่งปลดล็อกกฎหมายให้เร็วที่สุด
“รศ.โอฬาร” กล่าวอีกว่า ศบค. หากรู้แนวทางเช่นนี้แล้วต้องเร่งพูดคุยกับประชาชนให้ชัดเจน พูดความจริงออกมา เพราะตอนนี้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลตกต่ำ ซึ่งนอกจาก ศบค. จะบริหารเรื่องโควิด-19 เราจะต้องบริหารความไว้วางใจของคนทั้งประเทศ โดยการสื่อสารอาจต้องใช้ ทีมแพทย์ ทั้งเบื้องหลังและด่านหน้า สื่อสารเหตุผลและความจำเป็นให้ประชาชนเข้าใจร่วมกัน
“อนุทิน” เผยแอสตราฯ ทยอยส่งวัคซีนตามกำหนด
“บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งว่า สามารถจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ได้ตามกำหนด ขณะนี้ส่งเอกสารไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจรับรองคุณภาพแล้ว ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี“
คือคำชี้แจงล่าสุดจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ซึ่งอีก 1 สัปดาห์ คือวันที่ 7 มิ.ย. ที่จะเริ่มปูพรมฉีดวัคซีน แต่ก็ยังไม่ระบุถึงวัน เวลา และจำนวนโดสที่จะส่งมอบ
“อนุทิน” ยืนยันว่า ผู้ที่ลงทะเบียนนัดหมายแล้วได้รับการฉีดแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวใดยืนยันว่ามีประสิทธิภาพเหมือนกันในการลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
“กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งวัคซีนตามแผนการกระจายวัคซีน ที่มี ศบค. และนายกรัฐมนตรีพิจารณา ตามจำนวนวัคซีนที่มี ส่งออกทั้งหมด ไม่มีการเก็บวัคซีนไว้ ส่วนจังหวัดหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับวัคซีนไป ต้องมีแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน โดยให้พิจารณาการฉีดตามหลักวิชาการทางการแพทย์ โดยวัคซีนของแอสตราเซเนกาจะทยอยส่งมอบ ภายในเดือนมิถุนายนต้องได้รับ 6 ล้านโดสตามที่กำหนด”