ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”

ออกประกาศฯ เพิ่มอำนาจจัดหา นำเข้าวัคซีน เตรียมแถลงข่าวแนวทางจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งยังไม่ขึ้นทะเบียน อย. แต่ “อยู่ในขั้นตอนประเมินคำขอขึ้นทะเบียน”

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ระบุว่า  ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวอกกไปเป็นระยะต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นั้น เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เป็นไปอย่างทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยคำแนะนำและคำปรึกษาจากประธานราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ตามมาตรา 23/1 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า

“การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง การป้องกันหรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นพูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและในต่างประเทศ 

และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจในการออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ และประกาศนี้ และมีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในข้อ 6 ของประกาศฉบับนี้ ยังระบุว่า “ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่จำเป็น ที่ราชวิทยาลัยจัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการบริการทางการแพย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ”

ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ลงนามโดย ศาสตรจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี ในฐานะประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป อนึ่ง ราชกิจจานุเบกษา ปกระกาศเื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564.

สำนักข่าว Hfocus ยังรายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ที่มา: https://www.hfocus.org/content/2021/05/21746?fbclid=IwAR2voUES5q_DPtAqkJi7Oz9gatpYL_gNEg1oCaX3GhZLcnEnRG1GjIj7cKY)

อย่างไรก็ตาม The Active ได้ตรวจสอบว่าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนฉุกเฉินกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขหรือยัง พบว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 อย. เผยความคืบหน้าการอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดวัคซีนซิโนฟาร์ม ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว อยู่ในขั้นตอนประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ยอดรวม อย. อนุมัติไปแล้ว 4 ราย และอยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขออีก 2 ราย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. ได้อนุมัติวัคซีน โควิด-19 ไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ (1) วัคซีนแอสตราเซเนกา โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (2) วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (3) วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด และ (4) วัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และล่าสุดวัคซีนของซิโนฟาร์ม โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้วอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน  

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ราย อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิค วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ทุกรายการที่มายื่นขอขึ้นทะเบียน อย. จะพิจารณาทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล โดยอย. มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง