7 ปี รัฐประหาร ยังห่างไกลเป้าหมายวันยึดอำนาจ

‘จตุพร’ ย้ำ ถ้าไม่ทำอะไร พล.อ. ประยุทธ์ อยู่อีกนาน ‘สาทิตย์’ ปฏิเสธเคลื่อนไหวสมคบคิด ย้ำ เพราะ กม.นิรโทษกรรม ‘รศ.สุขุม’ ท้า นายกฯ ยุบสภาฯ พิสูจน์ความนิยม

ในวาระครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร The Active สรุปความเห็นจากวงคุย Active Talk เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 หัวข้อ “7 ปี รัฐประหาร ประเทศไทย ยังไงต่อ?” ชวนอดีตตัวแทนมวลชนที่อยู่ในนาทียึดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และนักวิชาการอาวุโสด้านรัฐศาสตร์ มาพูดคุยถกบทเรียน 7 ที่ผ่านมา กับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา จากจุดเริ่มต้น คสช. ถึงรัฐบาลผสมที่มากสุดในประวัติศาสตร์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ถูกมองว่าเป็นต้อตอปัญหา และบรรยากาศการเมืองบนท้องถนนที่ยังร้อนระอุ และมองอนาคตการเมืองบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบไทย ๆ กำลังจะเดินไปทางไหน

สาทิตย์  วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การพูดเรื่อง 7 ปีรัฐประหารในวันนี้ มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และสิ่งแวดล้อมทางการเมืองก็เปลี่ยนไปด้วย ที่อยากจะกล่าวคือ รัฐประหารเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีเงื่อนไขเฉพาะที่ทำให้เกิดขึ้น ความจริงชุดหนึ่งที่พูดกันว่า มีการเตรียมการมาก่อนก็มีข้อมูลอยู่ แต่ก็ยังเห็นว่า การชุมนุมของประชาชนในช่วงปี 2556-2557 ถ้าไม่มีการดันกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่มีการควบคุมรัฐสภาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เชื่อว่าการชุมนุมไม่เกิด หรือเกิดยากมาก

การชุมนุมของประชาชนเมื่อ 7 ปีก่อน มาจากความต้องการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เป็นการสู้กับรัฐบาล ซึ่งคนที่ออกมาชุมนุมตอนนั้นก็เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่เมื่อการชุมนุมมีคนเจ็บและตาย มีความรุนแรงเกิดขึ้น ในที่สุดจึงมีการประกาศกฎอัยการศึก และนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

“ที่พูดเรื่องนี้ เพราะมีคนพยายามสร้างชุดความจริงขึ้นมา เพื่อกลบประเด็นการชุมนุมของประชาชนว่าเป็นการสมคบคิดกับพลเอกประยุทธ์ในการทำรัฐประหาร แต่คิดว่าคนที่ออกมาชุมนุม ไม่ได้คิดอย่างนั้น เขามีชุดความคิดความเชื่อของเขา”

สาทิตย์ กล่าวอีกว่า หลังรัฐประหาร ช่วงแรกดูเหมือน พล.อ. ประยุทธ์ มีความตั้งใจ ทั้งเรื่องปรองดองและปฏิรูปการเมือง แต่เมื่อ คสช. อยู่ไประยะหนึ่ง ก็ดูเหมือนจะเริ่มห่างไกลจากเป้าหมายหรือความตั้งใจเดิม และยิ่งเข้าสู่วงจรอำนาจทางการเมือง มีการเลือกตั้งมีพรรคพลังประชารัฐ ก็ยิ่งทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ห่างไกลจากเป้าหมายเมื่อ 7 ปีก่อน ขณะที่ปัจจุบันสภาพการเมืองก็เปลี่ยนไป มีคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง คำถามคือ ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ยังอยู่ในอำนาจต่อไป แนวคิดที่เคยมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว จะยังใช้กับสถานการณ์ตอนนี้ได้หรือไม่  

ด้าน รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองแนวโน้มว่า ประชาชนจะยอมทนจนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป และถึงตอนนั้นนักการเมืองก็จะถูกคาดคั้นในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ตอนนี้แม้จะมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อนักการเมืองยังไปจับมือกับ 250 ส.ว. ก็ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้

“ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่มีทางออกในแบบที่เราอยากได้ แต่ถ้านายกฯ อยากจะพิสูจน์ตัวเอง ก็ยุบสภาเลย แล้วดูว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายกฯ ยังได้รับเลือกหรือเปล่า”

รศ.สุขุม ยังเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งเกิดได้ยาก เพราะอย่างไรก็ต้องแก้ไปตามทิศทางที่เขาต้องการ ดังนั้น การยุบสภาก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า คนส่วนใหญ่ต้องการนายกฯ หรือไม่

ด้าน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และแกนนำกลุ่ม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ระบุว่า สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ เคยพูดเอาไว้ ไม่มีข้อใดที่เกิดขึ้นจริง แต่ที่ทำสำเร็จ คือ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นร่วมปัญหาจากการทำรัฐประหารร่วมกัน จากที่เคยขัดแย้งกัน และมองว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ต่างกับผู้นำรัฐบาลทหารในอดีต ที่เมื่อยึดอำนาจแล้ว ก็ต้องการสืบทอดอำนาจ ผ่านรัฐธรรมนูญที่เขียนเอง นักการเมืองที่อยู่ภายใต้กำกับ รวมถึงองค์กรอิสระที่แต่งตั้งเอง

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา 7 ปี จึงไม่มีรูปธรรมสักเรื่อง แต่ได้พูดทุกวัน เรื่องปฏิรูปการเมือง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เกิดขึ้น และถ้าไม่ทำอะไร พลเอกประยุทธ์จะอยู่ต่อไปอีกนาน”

จตุพร ยังตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เรายังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศด้วยความล้มเหลวหรือไม่ ถึงตอนนี้พิสูจน์แล้วว่า พล.อ. ประยุทธ์ แก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว ก็ควรที่จะถอยออกไป และให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว