ศบค. เสนอ กทม. เร่งตั้ง Camp Quarantine ห่วงคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

คาดการณ์มีมากถึงหลักล้านคน เพิ่มความเสี่ยงเชื้อโควิด-19 กระจายทั่ว กทม. เสนอตั้ง Camp Quarantine ใช้สมุทรสาครเป็นโมเดลต้นแบบ และกำหนดมาตรการนิรโทษกรรม ขยายเวลาขึ้นทะเบียน

วันนี้ (20 พ.ค. 2564) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิ โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่ม 2,636 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 1,965 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 671 คน ยอดป่วยสะสมระลอก เม.ย. 90,722 คน ส่วนยอดป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 119,585 คน หายป่วยเพิ่ม 2,268 คน หายป่วยสะสม 76,636 คน เสียชีวิตเพิ่ม 25 คน เสียชีวิตสะสม 703 คน

โดย กทม. ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันสูงสุด โดยวันนี้ (20 พ.ค.) พบเพิ่ม 1,001 คน รวมสะสมระลอกใหม่ 30,535 คน และมีผู้เสียชีวิต 11 คน

ส่วนคลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อ ศบค. รายว่าจนถึงขณะนี้พบแล้วทั้งหมด 36 คลัสเตอร์ใน 25 เขต โดยในจำนวนนี้มีมากถึง 18 เขตที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ส่วนอีก 4 เขต อยู่แค่ในระดับเฝ้าระวัง และวันนี้ (20 พ.ค.) พบเพิ่มอีก 1 เขต คือ บางพลัด เป็นการพบในแคมป์คนงานก่อสร้าง บ.แสงฟ้า

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการระบาดในพื้นที่ กทม. พบว่า ในกรณีพื้นที่ปากคลองตลาด มาจากผู้ค้าและแรงงานข้ามชาติติดเชื้อในกลุ่มแผงค้าที่ติดกันเป็นกลุ่มก้อนแรก ขณะที่บริเวณรอบตลาด มีตึกแถวให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติ มีลักษณะแออัด ขณะที่กรณีแคมป์คนงานก่อสร้าง ก็มีปัจจัยเสี่ยงจาก การมีความแออัด คนงานใช้ห้องน้ำร่วมกัน อยู่รวมตัวกันและทำกิจกรรมร่วมกัน

ห่วงคนงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เสนอ กทม. รีบตั้งศูนย์คัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ได้มีการรายงานตัวเลขแคมป์คนก่อสร้างทั่วพื้นที่ กทม. พบว่ามีทั้งหมด 409 แคมป์ ใน 50 เขต มีคนงานทั้งหมดจำนวน 62,169 คน แยกเป็นคนงานไทย 26,134 คน และคนงานต่างชาติ 36,035 คน

นอกจากนี้ยังมีการรายงานด้วยว่า มีจำนวนคนต่างชาติที่ถูกกฎหมายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จำนวน 1,318,641 คน เฉพาะใน กทม. มีประมาณ 5.8 แสนคน ส่วนคนต่างชาติที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย มีการคาดการณ์ว่ามีจำนวนมากถึงหลักล้านคน

“เฉพาะในกลุ่มที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ถ้าไม่มีมาตรการจัดการต่อกลุ่มคนเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค ทั้งที่เกิดจากการมีเคลื่อนย้ายตลอดเวลาจากการหลบหนี ความเสี่ยงจากการไปรวมตัวอยู่กับคนต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย และความเสี่ยงจากการอยู่ในที่พักอาศัยที่แออัด”

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมจึงมีการเสนอให้ กทม. รีบจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อแยกออกจากชุมชนของคนไทย โดยเรียนรู้การทำงานที่สมุทรสาครว่า กลุ่มนี้ควรจะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น อาจทำเป็น Camp Quarantine หรือ Camp Isolation รวมทั้งยังเสนอให้กำหนดมาตรการนิรโทษกรรม ให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเพื่อให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว