กรีนพีซ เรียกร้องนายกฯ ชี้แจง หลัง ครม. มีมติ CPTPP

เตรียมยื่นรายชื่อประชาชน ขอ นายกฯ ไม่ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วม CPTPP ย้ำ รัฐบาลต้องรับฟังข้อกังวลของประชาชน

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย เรียกร้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะถึงมติการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.2564) ที่ผ่านความเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ทั้งที่มีการคัดค้านจากหลายฝ่าย

พร้อมเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ หยุดการใช้อำนาจเพื่อลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วม CPTPP โดยทันที โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลจะต้องรับฟังข้อกังวลของประชาชน เกษตรกร ผู้บริโภค และภาคประชาสังคม ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และมีมติของรัฐบาลเพื่อปฏิเสธการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวร โดยขณะนี้กรีนพีซฯ กำลังรวบรวมรายชื่อของประชาชนเพื่อดำเนินการดังกล่าว

“ขณะนี้มีผู้ลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาล ปฏิเสธการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กว่า 138,000 คน รัฐบาลจะต้องฟังเสียงประชาชนที่แสดงความกังวลถึงอนาคตของประเทศ”

ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคประชาสังคมทั่วประเทศที่ร่วมคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP โดยจากข้อสรุปในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP คือการตัดสินใจเลือกผลประโยชน์ของธุรกิจบางกลุ่ม และการเอื้ออำนวยให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์และบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ประโยชน์ แลกกับ “ผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง” ต่อเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงทางอาหารและยาของประเทศ

กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่า การตัดสินใจเช่นนี้จะสร้างความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง เป็นการยื่นโอกาสให้มีการปล้นทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและอาหาร การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ รวมถึงบ่อนทำลายระบบความมั่นคงทางยาและสุขภาพของไทย

นอกจากนี้ กรีนพีซ ยังอ้างด้วยว่า ในเอกสารประกอบการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งเป็นเอกสารประกอบข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) นั้น เรื่อง CPTPP อยู่ในลำดับการพิจารณาที่ 9 ซึ่งระบุในวงเล็บว่า “เอกสารแจกและเก็บคืนในที่ประชุม” ซึ่งในเอกสารประกอบการประชุมของคณะรัฐมนตรียังได้ระบุว่า “หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ/อนุมัติ”

ด้าน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกแถลงการณ์โต้หลังมีคำกล่าวหาว่านี่เป็นข่าวลวง หลัง ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกสำนักนายกฯ ทวีตข้อความว่า ไม่มีการประชุมลับและไม่มีการลงมติใด ๆ เรื่องที่เข้ามาคือขอขยายระยะเวลาศึกษาเรื่อง CPTPP เพิ่มอีก 50 วันเพื่อความรอบคอบ รวมทั้งไม่มีการอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ที่จะมีการประชุมปีละครั้งในเดือนสิงหาคมนี้

FTA Watch ระบุว่า FTA Watch ได้รับเอกสารประกอบวาระการประชุมดังกล่าวเมื่อช่วงสายวานนี้ (5 พ.ค.2564) จึงแจ้งให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบ ด้วยเห็นว่า เรื่องสำคัญนี้มีผลผูกพันประเทศไทยถึงชั่วลูกชั่วหลานและมีผลกระทบต่อทั้งสังคม ซึ่งนโยบายสาธารณะที่จะออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลกระทบจากทุนใหญ่ในประเทศและทุนใหญ่ต่างประเทศ ไม่พึงพิจารณาด้วยการหมกเม็ด

“ถามว่า เหตุใดทีมงานโฆษกจึงไม่แถลงข่าวเรื่องการขอขยายเวลาศึกษาอีก 50 วัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมกับวาระอื่นๆ แต่กลับมาชี้แจงตอนค่ำของเมื่อวานนี้ หลังจากถูกผู้สื่อข่าวสอบถามจากกระแสเทรนดิ้งทวีตเตอร์ที่ประชาชนร่วมกันทวีต #NoCPTPP มากกว่าหนึ่งล้านสี่แสนครั้ง”

พร้อมตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามตีความจากทีมงานกระทรวงการต่างประเทศและทีมเลขาคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้เลยโดยไม่ต้องรอการศึกษาครบถ้วนอีก 50 วัน เพราะถือว่านี่เป็นกระบวนการรองรับภายใน แต่อาศัยการอนุมัติ/เห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในคราวนี้

“ซึ่งหากไม่มีพลังของประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมใจกันทวีต #NoCPTPP เป็นล้านครั้ง รวมทั้งการส่งข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ อย่างกว้างขวาง พวกเขาคงตีเนียนเดินหน้าเข้าร่วมความตกลงที่ได้ชื่อว่าจะสร้างผลกระทบกับสังคมไทยอย่างร้ายแรงครั้งสำคัญ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว