TDRI แนะ เยียวยาแรงงาน 30 ล้านคน 6-8 เดือน ชี้ หากไม่เร่งฉีดวัคซีน 70% ของประชากร เศรษฐกิจฟื้นยาก

โควิด-19 สองรอบตกงานแล้ว​ 4-8 แสนคน​ ‘ยงยุทธ แฉล้มวงษ์‘ ชี้ แรงงาน 30 ล้านคน ควรได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 3,000​ ต่ออีก 6-8 เดือน

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์​ กล่าวว่า​ประเทศไทยผ่านการระบาดของโควิด-19 มา 3 รอบ รวมเวลา 15 เดือน โดยเฉพาะการระบาดรอบแรกและรอบสอง ห่างกันถึง 6 เดือน แต่หลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเห็นว่า รัฐบาลยังมีความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีน

“ปัจจุบัน (เม.ย. 2564) เพิ่งฉีดรอบแรกไปได้เพียงประมาณ 9 แสนคน หรือประมาณ 1.0% ของประชากรไทย”

รศ.ยงยุทธ มองว่า หากไม่เร่งนำเข้าวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนถึงจำนวนขั้นต่ำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ 70% ของประชากร ก็จะยังไม่สามารถป้องกันหรือบรรเทาการระบาดของโควิด-19 ได้ ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่และการเสียชีวิต ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งการเดินทาง การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ และการจับจ่ายใช้สอย

ที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อเยียวยาประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มอื่น ๆ ทำให้รัฐต้องกู้เงินมาใช้ในการเยียวยาให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนที่เดือดร้อน โดยได้ใช้เงินไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้สามารถดันเศรษฐกิจที่ติดลบ 6.1% ในปี 2563 ที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะกระเตื้องขึ้นได้ในปี 2564 ราว 2.5-3.5%

แต่เมื่อการระบาดรอบ 3 เกิดขึ้นเมื่อต้นเมษายน 2564 หลายฝ่ายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและการเงินเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะลดลงเหลือ 1% เศษเท่านั้น

“การที่เศรษฐกิจมีปัญหาหลายระลอกและการระบาดโควิด 3 รอบ และไม่รู้จะเกิดเป็นรอบที่ 4 อีกหรือไม่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการป้องกัน เยียวยา รักษาผู้ติดเชื้อ ส่งผลถึงการปรับตัวของตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

จากการประเมินโดยใช้ข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตลาดแรงงานผันผวนในช่วงระบาดเป็นอย่างมาก โดยหากไม่มีการระบาดของโควิด-19 การว่างงานจะอยู่ที่ 0.75-1.0% หรือคิดเป็นคนว่างงานประมาณ 4 แสนคนจนถึงใกล้ ๆ 8 แสนคน (ร้อยละ 1.6) ผู้ตกงานเหล่านี้ต้องการการเยียวยา โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เพียงทำให้แรงงานตกงานเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขาทำงานได้ไม่เต็มที่ จากข้อมูลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ไตรมาส 3) ยังพบอีกว่า มีผู้ที่มีงานประจำ แต่ไม่ได้ทำงาน 0.18 ล้านคน, ทำงาน 1-19 ชั่วโมง 1.09 ล้านคน และ ทำงาน 20-39 ชั่วโมง 9.42 ล้านคน รวม 10.69 ล้านคน

“แรงงานประมาน 10 ล้านคนเหล่านี้ มีความเดือดร้อนแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าทำงานได้มากหรือน้อย ซึ่งพวกเขายังต้องการความช่วยเหลือทางการเงินชนิดให้เปล่าเต็มจำนวน หรือร่วมจ่าย รัฐจึงยังจำเป็นต้องเยียวยาต่อไปจนถึงสิ้นปี”

รศ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า เงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาทของรัฐ ปัจจุบันเหลือไม่กี่แสนล้านบาท หากจะต้องช่วยถึงสิ้นปี รัฐอาจต้องกู้เพิ่มอีก 0.5-1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ขัดสนต่อไป จนกว่าธุรกิจจะกลับมาเดินหน้าได้ตามปกติ โดยให้การเยียวยากับทุกกลุ่ม ยกเว้นเฉพาะผู้มีรายได้ในกลุ่มควินไทล์ที่ 5 หรือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% ไม่ต้องได้รับเงินเยียวยา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีรายได้น้อยยังยืนอยู่ได้ในสังคม

“สรุป คือ ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดส 70-80% ของประชากรภายใน 6 เดือนที่เหลือในปีนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรเลือกฉีดวัคซีนที่เหมาะสมให้มากที่สุด”

สำหรับข้อเสนอในสถานการณ์นี้ รศ.ยงยุทธ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน

  1. เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคบริการ (การท่องเที่ยว) แรงงานที่อยู่ในภาคนี้จะฟื้นได้จนเข้าสู่ระดับ New Normal พวกเขาจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัย 70-80% และหมุนเวียนจนครบทุกคนโดยเร็วที่สุด เมื่อนั้นความมั่นใจในความปลอดภัยจะเกิดขึ้น การบริโภค การลงทุน ของภาคเอกชนจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่การขยายตัวได้อีกครั้ง การทำงานต่ำระดับก็จะบรรเทาลง ตลาดแรงงานจะมีอุปสงค์ใหม่เพื่อรองรับกลุ่มเยาวชนที่มีการว่างงานได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ทรัพยากรของรัฐต้องให้ความสำคัญมากที่สุดกับการได้มาซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะแพงเท่าใดก็ต้องซื้อและฉีดให้คนไทยทุกคนให้ได้โดยเร็ว “เราเสียเงินเป็นล้าน ๆ บาทมาแล้วกับมาตรการอื่น ๆ จะเสียอีกแสนล้านบาทเพื่อพยุงชีวิตและเศรษฐกิจถือว่าคุ้มค่า”
  2. ระยะเวลาอีกประมาณ 6-8 เดือนนี้ กลุ่มคนมีรายได้ 3 ควินไทล์ ระดับล่าง ซึ่งเป็นกำลังแรงงานประมาณ 30 ล้านคน จะต้องได้รับเงินเยียวยาต่อไป โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบประมาณมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลมีบัญชีรายชื่ออยู่หมดแล้วอย่างน้อยคนละ 3 พันบาทต่อเดือน และเมื่อทุกคนได้รับวัคซีนครบ 100% แล้ว การปรับตัวของประเทศทำได้อย่างราบรื่น เมื่อความเชื่อมั่นไว้วางใจกลับมาทั้งเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะฟื้นตัวตามมาได้เอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเยียวยาด้วยเงินมหาศาลอีกต่อไป
  3. ภาระของรัฐบาลคงเหลือแต่การสนับสนุนผู้ประกอบการ (Real sector) โดยเฉพาะ SMEs ด้วยการหยุดเลือดที่ไหลจากผลกระทบของโควิด-19 แล้วช่วยเติมเลือดใหม่ให้พวกเขาเพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และในที่สุดได้กลับเข้ามาเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง
  4. กลุ่มสุดท้ายคงเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้สูงอายุคนพิการ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเพื่อให้เขามีชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ (Decent life and living) ได้ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS