“หมอเฉลิมชัย” ชี้มาตรการต่าง ๆ เมื่อประกาศใช้แล้ว กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาอีก 7-14 วัน ต้องมีมาตรการ เข้มข้นระงับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวัน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2564 ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เผยแพร่ข้อความในโซเชียลมีเดีย Blockdit “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุว่า เหลือเวลาอีก 2 วัน ในการเร่งพิจารณาการออกมาตรการควบคุมที่มีความเข้มข้นเหมาะสมมากขึ้น
จากการสรุปจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ว่างล่าสุด ซึ่งเป็นการระดมสรรพกำลังกันมาอย่างเต็มที่ (และต้องขอชื่นชมทุกฝ่ายที่ได้ระดมหาเตียงในเวลารวดเร็วได้มากขนาดนี้) ผลสรุปคือ มีเตียงทั้งหมดที่จะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ทั้งเตียงในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม ตลอดจน Hospitel ทั้งสิ้น 40,524 เตียง มีผู้ครองเตียงไปแล้วในวันก่อน 19,386 เตียง จึงเหลือเตียงว่างที่จะรองรับได้อีก 21,138 เตียง
โดยเป็นเตียงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ที่มีปัญหาอย่างมาก) อยู่ 16,422 เตียง มีผู้ครองเตียงไปแล้ว 11,075 เตียง จึงเหลือเตียงว่างอีก 5,347 เตียง
แต่จากการรับทราบตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อวานนี้ (24 เม.ย. 2564 รายงานวันที่ 25 เม.ย. 2564) จำนวน 2,438 ราย ต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล 2,427 ราย และได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 547 ราย จึงเป็นการใช้เตียงเพิ่มในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจำนวน 1,880 เตียง
ถ้าอัตราการติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับเดิม การใช้เตียงก็จะอยู่ในระดับเดิมเช่นกัน คือ วันละ 1,880 เตียง แต่ตัวเลขล่าสุด มีผู้ครองเตียงไปแล้ว 24,207 เตียง ทำให้เหลือเตียงว่างเพียง 16,317 เตียง เมื่อนำตัวเลขที่จะต้องมีผู้เข้ารับการรักษาใหม่วันละ 1,880 คน เตียงก็จะเต็มภายในเวลาอีก 9 วัน
แม้จะได้มีความพยายามในการลดจำนวนวันที่จะอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม และให้ไปกักตัวเองต่อที่บ้าน (ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ 100%) ทั้งนี้ก็เพื่อให้เตียงสามารถหมุนเวียนมารับผู้ติดเชื้อได้เพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม เราก็ควรจะมีมาตรการเชิงรุก ที่ทันท่วงที ทันต่อสถานการณ์ ทำให้จำนวนเตียงมีความเหมาะสมกับผู้ติดเชื้อ จะได้หลีกเลี่ยง วิธีการให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย ต้องออกจากโรงพยาบาลเร็วกว่าปกติแล้วให้ไปเสี่ยงต่อการอาจแพร่เชื้อในการกักตัวที่บ้านต่อไป
แต่มาตรการต่าง ๆ เมื่อประกาศใช้แล้ว กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาอีก 7-14 วัน เช่นเดียวกับเวลาจะเกิดปัจจัยของการระบาด ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-14 วันเช่นกัน เช่น การเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ กว่าจะเห็นผลก็ต้องทิ้งระยะเวลาช่วงหนึ่ง
ดังนั้น เตียงที่กำลังจะเต็มในเวลาอีก 9 วันข้างหน้านี้ เราจึงต้องมีมาตรการที่เหมาะสม เข้มข้นเพียงพอ ที่จะระงับยับยั้งการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวัน ออกมาภายในสองวันนี้ซึ่งถ้าได้ผลจริง กว่าจะเห็นผลก็จะต้องใช้เวลาไปอีก 7 วัน รวมเป็น 9 วันพอดี เพื่อทำให้จำนวนเตียงของเราพอที่จะรองรับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่มีอาการได้ และเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง