รพ.เอกชน ปฏิเสธผู้ป่วย ส่งต่อ รพ. ในเครือ ฟันค่ารักษาโควิด-19 หลักแสน – สปสช. ย้ำรักษาฟรี

สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ช่วยหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 วันเดียว 100 กว่าราย ส่วนใหญ่เตียงเต็ม เผย กทม. ยังเหลือเตียงว่างอีก 2,000 เตียง มั่นใจทั่วประเทศ ทุก รพ. ศักยภาพเพียงพอ รับมือการระบาด 1,300 – 1,500 คน/วัน   

ภายหลังกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดสายด่วน 1668 ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่มีเตียงรักษา มาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกับ TheActive ว่า ตลอดช่วง 3 วันมานี้ถือว่าเมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการสายด่วน 1668 มากที่สุด 200 กว่าสาย  

ในจำนวนนี้ 130 สาย โทรศัพท์มาขอคำแนะนำ เช่น ทำความเข้าใจกับอาการต้องสงสัย และความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้ง หากคนในครอบครัวติดโควิด-19 ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ขณะที่อีก 100 กว่าสาย โทรมาเพื่อขอให้ช่วยจัดหาเตียง โดยแบ่งเป็นผู้ป่วย ที่ตรวจในโรงพยาบาล 96 คน, แล็บเคลื่อนที่เชิงรุกที่ไม่ระบุพื้นที่ 11 คน ตรวจจากแล็บเอกชน 8 คน ในส่วนนี้แยก เป็นแล็บที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง 4 คน ส่วนอีก 4 คน เป็นการยืนยันผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากแล็บที่ไม่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน แม้เป็นจำนวนน้อย แต่ก็ถือเป็นปัญหาที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้เลือกแลปตรวจที่ได้มาตรฐาน และเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลจะดีที่สุด

วอน รพ.เอกชน ไม่ปฏิเสธผู้ป่วย-เลิกหวังกำไรช่วงวิกฤต

นพ.สมศักดิ์  ยืนยันว่า สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ไม่มีอำนาจสั่ง หรือบังคับให้โรงพยาบาลจัดหาเตียงให้ แต่จะช่วยประสาน และตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่ผู้ป่วยแต่ละคนมี แต่หากเตียงเต็ม ก็ขอให้โรงพยาบาลประสานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยเฉพาะในกรณีของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า มีกรณีปฏิเสธไม่รับการรักษา และมุ่งหวังแต่ผลกำไรในเชิงธุรกิจ

ตลอดช่วงที่โควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา เครือโรงพยาบาลเอกชน 4-5 แห่ง ให้ความร่วมมือ และพยายามเสาะแสวงหาการเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์การระบาดมาแทบทุกครั้ง ซึ่งทำได้ดีมาก แต่ก็ยอมรับว่ามีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเช่นกัน ที่เน้นแต่ผลประโยชน์ อย่างกรณีที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ป่วย ว่า ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง พบผลเป็นบวก แต่โรงพยาบาลนั้นอ้างว่าเตียงเต็ม จึงพยายามประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์รักษา ซึ่งโรงพยาบาลรัฐก็ไม่สามารถรองรับได้ เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว จึงส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเอกชนในเครือ แต่กลับเรียกค่ารักษาโควิด 2 แสนกว่าบาท เรื่องนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะรักษาที่ไหนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดอยู่แล้ว เอกชนจึงต้องมองข้ามธุรกิจในช่วงเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤตแบบนี้   

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

มั่นใจ เตียงมีพอรับมือระบาด 1,300 – 1,500 คน/วัน

อธิบดีกรมการแพทย์ ยังระบุถึงจำนวนเตียงของโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่รายงานเข้าสู่ระบบล่าสุด เมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (11 เม.ย.) พบว่า มีเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งสิ้น 4,384 เตียง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่แล้ว 2,300 กว่าเตียง จึงเหลืออีกประมาณ 2,000 เตียงที่ยังว่าง พอรองรับผู้ป่วยได้ ดั้งนั้นหลักการ คือ โรงพยาบาลที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือประสานโรงพยาบาลในเครือข่าย เช่นเดียวกับเอกชน หากตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้วไม่มีเตียงรองรับ ก็ต้องประสานส่งต่อในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน หรือส่งต่อข้ามเครือข่ายได้

ส่วนจำนวนเตียงทั่วประเทศที่จัดเตรียมไว้รองรับขณะนี้ ประมาณตัวเลขอยู่ที่ 18,000 – 19,000 เตียง ยังถือว่าเพียงพอ และรับมือได้กับการระบาด 1,300 – 1,500 คนต่อวัน ตลอดช่วงเวลา 2 สัปดาห์ แต่ถึงอย่างไรเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ก็ได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม โรงแรม หรือ  Hospitel  ไว้รับมือแล้วเช่นกัน

สปสช. ยืนยันเข้า รพ. รักษาโควิด-19 ฟรีทุกแห่ง  

ขณะที่ ​ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอาการป่วย มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ เดินทางไปสถานที่ที่มีการระบาด หรือแม้แต่ไม่มีอาการป่วย และไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ สามารถเดินทางไปรับการตรวจคัดกรองหรือปรึกษาแพทย์ได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สปสช. จะจ่ายแทนประชาชนให้เอง รวมทั้งหากพบว่าติดเชื้อ สปสช. ก็จ่ายค่ารักษาให้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีจำนวนผู้ไปรับการตรวจมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งอาจเกิดความกังวล เพราะเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลจะต้องรับคน ๆ นั้นเข้าเป็นผู้ป่วยในการดูแลของตัวเอง ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่กล้าตรวจเพราะเกรงว่าถ้าตรวจเจอเชื้อแล้วจะไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตำรวจ กระทรวงกลาโหม และ โรงพยาบาลเอกชน เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประสานส่งต่อผู้ป่วยในเครือข่ายหรือข้ามเครือข่ายได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“อนุทิน” สั่งสายด่วน 1330 ช่วยหาเตียงผู้ป่วย

ซึ่งนอกจากสายด่วน 1668 แล้ว อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังมอบให้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สปสช. จัดระบบรองรับผ่านสายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลด้วย

เช่น นาย A ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล B แล้วตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาล B ในขณะนั้นมีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก จนเตียงเต็มหมดแล้ว ทำให้ไม่มีเตียงสำหรับนาย A ในโรงพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลสามารถโทรเข้าสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ได้ หรือหากสายไม่ว่างเนื่องจากคู่สายเต็ม ก็สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ เพื่อให้ประสานจัดหาเตียงในโรงพยาบาลอื่น ๆ แก่นาย A ได้เลย และเมื่อ 1330 หาเตียงได้แล้ว ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ก็จะมีรถพยาบาลของ สพฉ. มาช่วยรับส่งให้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง

ในส่วนของผู้ป่วยที่ก่อนหน้านี้ไปตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ รพ. ที่ไปตรวจเตียงเต็ม ส่วนหนึ่งมีกลุ่มที่ไม่มีอาการ ก็สามารถโทรศัพท์ประสานมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สายด่วน 1330 ได้เริ่มดำเนินการจัดหาเตียงแก่ผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วานนี้ (10 เม.ย.) เป็นต้นไป ดังนั้น โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาเตียงไม่พอสามารถติดต่อประสานงานเข้ามาได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ตรวจแล้วพบเชื้อแต่มีปัญหายังไม่ได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS