คนจนหน้าใหม่: อาชีพไร้สวัสดิการ กลุ่มเปราะบางจากโควิด-19

คลี่ปัญหาแรงงานแพลตฟอร์ม ‘นักวิจัย’ แนะ รัฐ เร่งสร้างกลไกอุดช่องโหว่บิดเบือนกลไกตลาด เอาเปรียบ ‘ไรเดอร์-แรงงานรับจ้างรายวัน’ เวทีสาธารณะ ร่วมสะท้อนภาวะคนจนใหม่จากวิกฤตโรคระบาด

The Active ร่วมกับ เวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย เปิดวงสนทนา “คนจนใหม่: จากสถานการณ์การระบาด COVID-19” เพื่อร่วมทำความเข้าใจความหมายใต้จักรวาลความจน และข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์เป็นนโยบาย

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และนักสร้างสรรค์การเรียนรู้ ระบุว่า ความจนดั้งเดิมที่คุ้นเคย เป็นความจนในแง่ของความขาดแคลน ตามเส้นความยากจนที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ แต่มันมีความจนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ความจนในแง่ของการขาดโอกาส เช่น โอกาสทางการศึกษา ที่ทำให้มีโอกาสเป็นคนจนในอนาคต พ่อแม่อาจจะไม่มีเงินส่งให้เรียนรู้ เป็นโอกาสที่ส่งต่อมารุ่นหนึ่งมาอีกรุ่นหนึ่ง

อีกแง่หนึ่ง คือ ความจนในแง่ของความมั่นคง คุ้นเคยกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเดิมทีก็มีแนวโน้มที่เห็นได้ต่อเนื่อง คือ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551-2561) พบว่าคนเลี้ยงหมูและคนเลี้ยงไก่ หายไปจากตลาด รวม ๆ กว่า 1.7 ล้านคน เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่มีส่วนเข้ามาถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น หรือ การเสียส่วนแบ่งทางการตลาดของร้านค้าปลีกก็พบว่า ไม่ถึง 10 ปี จาก 61% เหลือ 57% อาจดูไม่เยอะ แต่มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาทที่หายไปเข้าสู่ระบบโมเดิร์นเทรด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหนี้เสีย เป็นความจนจากการขาดความมั่นคง

เดชรัต ยังยกตัวอย่าง กรณีเงินสนับสนุนเด็กเล็ก 600 บาทต่อเดือน ให้เฉพาะคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปี สวัสดิการของรัฐที่ตกหล่น การช่วยเหลือคนจำนวนมาก เสนอว่าควรจะให้แบบถ้วนหน้า หากใครมีลูกก็ให้ 600 บาท โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจนหรือไม่จน เพราะทุกคนมีความเสี่ยงจากสถานการณ์นี้

แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ระบุว่า กลุ่มเสี่ยงความยากจน กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเงินสวัสดิการของรัฐ ต้องใช้ชีวิตด้วยการกระเบียดกระเสียร ใช้เงิน 2,000 ต่อเดือนให้เพียงพอ อีกกลุ่ม คือ คนที่พลัดหลงเข้ามาอยู่ในสภาวะความจน เช่น เกษตรกรที่ประสบปัญหาทางการเกษตรทำให้ไม่ได้ผลผลิตที่เพียงพอ และทำให้ขาดรายได้ นับเป็นขบวนของฟางเส้นสุดท้ายที่ชัดแถวมาด้วยกัน อีกกรณี คือ คนที่มีทักษะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ตอบโจทย์กับตลาดงานที่ขายได้ ทำให้คนที่ประสบปัญหางานและเงินกะทันหัน ไม่สามารถหางานตามวิชาอาชีพได้ในทันที

เขาเสนอว่า ต้องจัดเรื่องความสัมพันธ์ของการจ้างงาน ของคนที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น ที่ปัตตานี มีผู้ประกอบการรายใหญ่เอาปลาไปส่ง ครั้งละ 50 กิโลกรัม ได้เงิน 50 บาท คนที่มีภาวะต้องการงาน ต้องการรายได้ ก็ต้องทำโดยไม่มีการกำกับดูแล ใครจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ เป็นความไม่ชอบธรรมทางอำนาจ เพราะลูกจ้างไม่มีอำนาจที่จะทำ สมมติเราอยู่ในความคุ้นชินแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ต่อไป ก็จะเป็นการทำร้ายคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ทำให้พวกเขาออกจากวังวนตรงนี้ไม่ได้

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ริเริ่มสร้างแพลตฟอร์ม “ตามสั่ง ตามส่ง” มองว่า คนที่หาเช้ากินค่ำ อาจจะไม่ทราบถึงกระบวนไกล่เกลี่ยหนี้ที่ชัดเจน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่กระบวนการขูดรีด จากกระบวนการธุรกิจแบบใหม่ รูปแบบต่าง ๆ อยากชวนให้มองถึงปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ แต่อยู่ที่รัฐจะมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร 

ปัญหาใจกลางการทำงานรูปแบบใหม่ คือ อำนาจในการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยโครงสร้างแล้วมี อุปสงค์ อุปทาน และแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกัน ซึ่งมาสร้างกลไกควบคุมเหนืออุปสงค์ อุปทาน สร้างอำนาจให้กับตัวเองและไปกดทับ อุปสงค์ อุปทาน ทุกคนต้องพยายามทำงานให้ดีเพื่อให้ได้งานต่อไป แต่ไม่ใช่กับกลุ่มคนที่ทำงานในแพลตฟอร์ม โดยกลไกบิดเบือนกลไกทางการตลาดให้คนเข้ามาทำงานมาก ๆ แล้วก็กดราคาลง ในบรรดาไรเดอร์เองก็มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่างต่อกลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม 

เราถอดบทเรียนขึ้นมา อย่างแรก ที่ว่าได้ค่าตอบแทนสูง สภาพการทำงานเป็นอิสระ ซึ่งไม่ได้เป็นอิสระจริง เพราะเลือกเวลาทำงานไม่ได้ทั้งหมด บางแพลตฟอร์มหากเลือกเวลา อาจไม่ได้เลือกสถานที่ในการทำงาน ดังนั้น ประโยชน์ที่ไรเดอร์คิดว่าได้ อาจจะไม่ได้ประโยชน์จริง

เขากล่าวถึงกรณีนี้ว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดเวลาทำงาน 48 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แต่ไรเดอร์ต้องทำงานสูงกว่านี้มาก ประมาน 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ 10 กว่าชั่วโมง ส่วนประสบการณ์เจ็บป่วย และอุบัติเหตุ เกิดขึ้น 1 ใน 3 ของจำนวนไรเดอร์ทั้งหมด เพราะต้องทำเวลาให้เร็วตามเงื่อนไขแพลตฟอร์ม

แต่ความจริงไม่สามารถควบคุมเวลาได้ ทำให้ต้องประสบอุบัติเหตุไปจนถึงเสียชีวิต บางแพลตฟอร์มเพิ่งให้สัญญาประกันอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ผูกติดกับความต้องการทำงานมากขึ้น เช่น ถ้าได้ขั้นฮีโร่ จึงจะได้รับสวัสดิการป้องกันอุบัติเหตุ 1 เดือน ซึ่งกว่าจะได้ขั้นฮีโร่ก็ต้องทำงานมากขึ้น ๆ อีก

จากผลสำรวจพบว่า 39.2% บอกว่าแอปพลิเคชันกระตุก ไม่เสถียรทำให้เสียงาน เท่ากับว่าระบบทั้งให้ทุนและให้โทษ ความขัดแย้งกับลูกค้ามีอยู่ตลอดเวลา แต่แพลตฟอร์มให้แค่ช่องทางเดียว คือ แชทแล้วรอ และบางครั้งผลักให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของไรเดอร์ ทั้งที่บางครั้งเป็นความผิดของลูกค้าเอง หรือปัญหาจากร้านค้า คือ รออาหารนานมากเกิน 40 นาที ก็จะต้องมีเจียดเวลาด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูง หากลูกค้าไม่พึงพอใจก็ต้องถูกร้องเรียนอีก

ความสัมพันธ์ของผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้าง ควรจะเป็นรูปแบบไหน จึงต้องผลักดันกฎหมายที่เป็นธรรม อย่างในต่างประเทศเอากฎหมายเดิมมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับการจ้างงานแบบใหม่

ตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มจาก สหภาพลาล่า – Freedom Lala ร่วมด้วยไรเดอร์กลุ่มอื่น ๆ บอกว่า ปัจจุบัน ลูกจ้างแพลตฟอร์ม ประสบปัญหาหลายด้าน จนมองว่าอาชีพตัวเองเป็นแรงงานทาส ถูกเอาเปรียบ ถูกละเมิด ถูกดูถูก เหยียดหยาม ไปที่ไหนก็ต้องมีการแบ่งแยก ไปร้านค้าก็ต้องเข้าทางหนึ่ง ห้ามใส่เสื้อฟอร์ม และยังถูกเอาเปรียบจากเจ้าของแพลตฟอร์มเอง ให้ทำงานหนักขึ้น เสี่ยงขึ้น แต่เงินที่ได้น้อยลง จากรายได้ค่ารอบ 100 บาท เหลือ 60 บาท เหลือ 20 บาท ถูกลงเรื่อย ๆ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่บริษัทจัดทำขึ้น ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์ในการคัดค้านหรือไม่ยินยอม เขาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างไรก็ได้โดยที่ไม่ถามถึงพวกผมเลย

แม้แต่ถ้าไปส่งแล้วได้ทิปส์พิเศษจากลูกค้า ก็ถูกบริษัทหักเปอร์เซ็นต์ไปอีก หากไปเจอปัญหาที่หน้างานก็ไม่สามารถที่จะติดต่อกับบริษัทได้โดยตรง ต้องเข้าช่องทางแชทซึ่งต้องรอต่อคิวนาน บางเงื่อนไขก็รู้สึกว่าบริษัทเอาเงินคนขับ เงินร้านค้ามาดองในระบบ และสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกจ้าง ร้านค้าต้องทำตาม ซึ่งไม่สามารถต่อรองอะไรได้

ทำได้แค่ร้องแรกแหกกระเชอ ร้องกับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ร้องต่อสื่อมวลชน หวังจะได้การคุ้มครอง แต่กลไกรัฐ ระบุว่า ให้รอไปก่อน เพราะแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ใหม่ ทั้งที่จริงมีแพลตฟอร์มแบบนี้มานาน 7-8 ปีแล้ว จึงอยากให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในระยะยาวด้วย

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด บริษัท ไลน์แมน แจ้งว่าจะนัดหารือเพื่อนำข้อเสนอมาพิจารณาเพื่อดำเนินงานให้ สิ่งที่แพลตฟอร์มกำลังทำ คือ ผลักภาระ ไม่ยอมรับว่าเป็นลูกจ้าง มองว่าเป็นแค่พาร์ทเนอร์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีสิทธิ์ออกความเห็น หรือรายได้ของบริษัทแต่อย่างใด 

เวทีสาธารณะ “คนจนใหม่: จากสถานการณ์การระบาด COVID-19” (30 มี.ค. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้