เขื่อนลำตะคองรอดแล้ง แต่ต้องระวังท่วม หลัง เตรียมแก้มลิงกว่า 3 พันไร่

สทนช. เผย เขื่อนลำตะคอง น้ำมากกว่าปีก่อน 140 ล้าน ลบ.ม. สามารถปลูกข้าวเพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นไร่ ด้าน กรมชลประทาน เตรียมเพิ่มแก้มลิงรับน้ำฤดูฝน ป้องน้ำท่วม จ.นครราชสีมา

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยข้อมูลหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือภัยแล้งและเตรียมการก่อนเข้าช่วงฤดูฝนปี 2564 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองมีน้ำมากกว่าร้อยละ 80 โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 273 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 87 ของความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้ได้ประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 110 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 35 เท่านั้น แบ่งเป็น น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม โดยมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 86.57 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผน 183.35 ล้านลูกบาศก์เมตร

ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในการรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันผลกระทบด้านท้ายเขื่อน ด้วยการวางแผนนำน้ำไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและลำน้ำธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่ ประกอบกับเสริมศักยภาพของเขื่อนให้สามารถรองรับเกินได้ร้อยละ 118 คิดเป็นความจุ 373 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2564 มีความต้องการใช้ประมาณ 128.19 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยช่วงเดือนที่ต้องการใช้มากที่สุด คือ ช่วง เดือนกรกฎาคม- ตุลาคม นอกจากแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำลำตะคอง ยังช่วยลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ปริมาณน้ำในอ่างลำตะคองปีนี้มีมาก เป็นผลมาจากปีที่แล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนเยอะ เช่น การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศ 3 ครั้ง และมีพายุที่เข้ามา 4 ลูก ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างทั้งปี 2563 รวมเป็นปริมาณ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ปีนี้มีการทำนาปรังเต็มพื้นที่รวมจำนวน 8 หมื่นไร่ ซี่งจะสิ้นสุดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ รวมถึงมีปริมาณน้ำสำรองในต้นฤดูฝนช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม อีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร

จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการลงทุนก่อสร้างโครงการใหญ่ อย่างถนนมอเตอร์เวย์ ถนนวงแหวนเลี่ยงเมือง และรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน แต่พบว่าจังหวัดนครราชสีมา มักประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำ โดยปีที่แล้งหนักสุดเมื่อปี 2562 – 2563 ซึ่งหนักสุดในรอบ 50 ปี และมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของคนเมืองนครราชสีมา กลับมีอยู่แหล่งเดียวเท่านั้น คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งแผนระยะยาวมีโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคองขึ้น เพื่อผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียง (ลุ่มน้ำป่าสัก) รองรับการใช้น้ำใน 18 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 367 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์