ช่วย “ชาวมันนิ” จ.สตูล เข้าถึงสวัสดิการรัฐ รับสิทธิเยียวยาโควิด-19

หลายหน่วยงาน เดินหน้าสำรวจข้อมูลชาวมันนิ จ.สตูล ได้รับสิทธิ “เราชนะ” ดึงคนตกหล่นให้มีบัตรประชาชน จัดทำฐานข้อมูลเด็กเกิดใหม่ พร้อมยืนยันสนันสนุนชาวมันนิอยู่ร่วมกับป่าตามวิถีดั้งเดิม

ตัวแทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สตูล, ปลัดอำเภอมะนัง จ.สตูล, หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านตำบลปาล์มพัฒนา ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ กลุ่มภูผาเพชร ที่ตัดสินใจกลับคืนสู่ผืนป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ชาวมันนิกลุ่มนี้ เข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐที่ครอบคลุมมากขึ้น 

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจสอบรายชื่อ และจัดทำข้อมูล เพื่อทำบัตรประชาชนสำหรับชาวมันนิที่ตกหล่นรวมทั้ง สำรวจข้อมูลเด็กเกิดใหม่ ให้ได้รับการบรรจุลงในทะเบียนราษฎร์

หลายหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวมันนิ จ.สตูล

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจและทำข้อมูลเกี่ยวกับชาวมันนิ ใน จ.สตูล ทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มราวปลา อ.ทุ่งหว้า, กลุ่มบ้านวังนาใน (วังสายทอง) อ.ละงู และ กลุ่มภูผาเพชร อ.มะนัง เพื่อให้ได้รับสิทธิเงินเยียวยาช่วยเหลือช่วงโควิด-19 ในโครงการเราชนะ พื้นที่ละ 5 ครอบครัว รวมทั้งให้การช่วยเหลือเด็กแรกเกิด ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ให้ได้รับสิทธิการช่วยเหลือจากภาครัฐ เข้าถึงบัตรประชารัฐ อย่างทั่วถึง

หลายหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวมันนิ จ.สตูล

เพลิน อนันต์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร กล่าวว่า ชาวมันนิกลุ่มภูผาเพชร เป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่ยังต้องการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมคืออพยพโยกย้ายไปตามแหล่งอาหารตามฤดูกาล ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน พยายามให้ความสำคัญเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการช่วยเหลือให้ชาวมันนิได้สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ และการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตามที่พวกเขาต้องการ

หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และถือว่าชาวมันนิ เป็นทรัพยากรบุคคล ที่เราต้องช่วยดูแลในด้านวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา โดยป่าผืนนี้เป็นเหมือนบ้านของชาวมันนิที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนาน เป็นที่ของพวกเขา เป็นบ้านของพวกเขาที่ต้องอาศัยอยู่ เราจึงต้องช่วยสนับสนุนให้พวกเขาอยู่ร่วมกับป่าแห่งนี้ได้อย่างสงบสุข

ชาวมันนิ กลุ่มภูผาเพชร จ.สตูล

สำหรับชาวมันนิในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณโดยรอบเทือกเขาบรรทัด ในเขตรอยต่อจังหวัดตรัง สตูล และพัทลุง มีอยู่ประมาณ 300 – 400 คน แต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันไปตามแต่ละชุมชนท้องถิ่น และการเข้าถึงจากสังคมภายนอก ซึ่งแต่ดั้งเดิมชาวมันนิช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน แบ่งปันกันอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมใช้ชีวิตอยู่แบบสังคมหาของป่า ล่าสัตว์ ไม่มีการเพาะปลูก ไม่เลี้ยงสัตว์ มีภาษาพูดและความเชื่อเป็นของตนเอง โดยกลุ่มภูผาเพชรเป็นหนึ่งในกลุ่มมันนิที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตใกล้เคียงกับแบบดั้งเดิมมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active