สธ. รับมอบวัคซีน “แอสตราเซเนกา” 117,300 โดส ส่วน “ซิโนแวค” อีก​ 8​ แสนโดส ส่งมอบ​ 25​ มี.ค.

“ทูตจีน” เสนอไทยพิจารณาฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่คนสัญชาติจีนที่อาศัยในประเทศไทย “อนุทิน” แจงคืบหน้า 4​ บริษัท​ขอขึ้นทะเบียน​วัคซีน​โควิด-19

8​ มี.ค.​ 2564 – เมื่อเวลา 16.00 น. ที่คลังวัคซีนกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีตรวจรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 117,300 โดส

อนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 63 ล้านโดส แต่เนื่องจากเหตุการณ์ระบาดระลอกใหม่ จึงมีการประสานจัดหาวัคซีนเข้ามาเพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งแอสตราเซเนกาจัดหามาจากแหล่งผลิตในต่างประเทศ ตามคำร้องขอจำนวน 117,300 โดส ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน 61 ล้านโดสที่จะผลิตในประเทศ โดยวัคซีนมาถึงประเทศไทยเมื่อ 24 ก.พ. 2564 และส่งมอบวัคซีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ โดย บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการขนส่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากการตรวจพบว่าวัคซีนอยู่ในสภาพสมบูรณ์และเก็บเข้าคลังวัคซีนกรมควบคุมโรคที่ควบคุมอุณหภูมิตามมาตรฐาน

“หลังจากนี้จะนำไปฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่อไป ซึ่งวัคซีนของแอสตราเซเนกาจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยการกระจายวัคซีนจะมีคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ดำเนินการจัดสรร ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอายุมากกว่า 60 ปี อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนได้ นอกจากเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ มีการประชุมและพบปะผู้คนจำนวนมาก ยังสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนด้วย”

สำหรับคลังวัคซีนกรมควบคุมโรค เป็นที่จัดเก็บวัคซีนสำคัญของประเทศ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่, หัด หัดเยอรมัน, โปลิโอชนิดรับประทาน, คอตีบบาดทะยัก, วัคซีนไข้เหลือง, วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น, อหิวาตกโรค และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ มีการทดสอบระบบทุกสัปดาห์ มีระบบสำรองไฟฟ้ากรณีไฟฟ้าดับหรือเหตุไม่คาดคิด มีกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ในทุกจุดสำคัญ มอบหมายผู้รับผิดชอบเพื่อบริหารจัดการจัดเก็บกุญแจที่ชัดเจน สแกนการเข้าออกคลังวัคซีนแบบจดจำใบหน้า และมีระบบแจ้งเตือนกรณีอุณหภูมิเปลี่ยนไปนอกเหนือจากช่วงอุณหภูมิที่กำหนดไว้

อนุทิน กล่าวว่า สำหรับวัคซีนซิโนแวคอีก 8 แสนโดสที่จะเข้ามา หยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้แจ้งว่าทางการจีนได้อนุมัติและประสานบริษัทผู้ผลิตแล้ว คาดว่าจะมาถึงวันที่ 25 มี.ค. และยังขอเสนอให้ประเทศไทยพิจารณาฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่คนสัญชาติจีนที่อาศัยในประเทศไทย โดยประเทศไทยจะทำหนังสือแสดงความจำนงขอการสนับสนุนวัคซีนจากประเทศจีนในฐานะมิตรประเทศต่อไป หากให้วัคซีนมา ก็อาจระบุเงื่อนไขว่าให้ดูแลคนจีนในประเทศไทยด้วย รวมถึงขอให้พิจารณาร่วมกับประเทศจีนจัดตั้งศูนย์การฉีดวัคซีนให้ชาวจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคอาเซียน และเสนอเรื่องการยอมรับวัคซีนพาสปอร์ตระหว่างสองประเทศเป็นบับเบิลกัน เพื่อให้การเข้าประเทศมีความสะดวกขึ้น

4​ บริษัท​ขอขึ้นทะเบียน​วัคซีน​โควิด-19 พร้อมหนุนเอกชนนำเข้า

สำหรับการประชุมที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เพื่อชี้แจงขั้นตอนการนำเข้า การขึ้นทะเบียน การกระจาย และการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แก่สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน

อนุทิน​ ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางพิเศษในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 สำหรับภาคเอกชน โดยต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน และยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จากนั้น อย. จะพิจารณาจากเอกสารด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล เพื่อให้สามารถอนุมัติทะเบียนโดยเร็วที่สุด

ในส่วนกรณีผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ายาอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลเอกชน หากประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ปัจจุบันมีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับ อย. แล้ว จำนวน 4 ราย

คือ 1) แอสตราเซเนกา โดย บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด และ โคโรนาแวค โดย บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้ง 2 ราย

และอีก 2 ราย ได้แก่ วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดย บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และ วัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสาร

“กระทรวงสาธารณสุขยินดีและขอบคุณภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเต็มที่ เป็นการแบ่งเบาภาระรัฐบาล ช่วยให้การกระจายวัคซีนทั่วถึง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีโอกาสไปดูแลประชาชนในส่วนที่จำเป็น ”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ได้กล่าวยืนยันพร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าไปได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS