เปิดตัวเลขเด็กไทย ป่วยจากฝุ่น วันละกว่า 1,600 คน

กรมอนามัย ชี้ มีความเชื่อมโยงกับช่วงที่ฝุ่นสะสมเกินค่ามาตรฐาน กุมารแพทย์ แนะ เด็กที่มีโรคประจำตัว หอบหืด ภูมิแพ้ ต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศมากกว่าปกติ

วันนี้ 26 ม.ค. 2564  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลง ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) เรื่อง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและวิธีป้องกัน ว่า ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์การเจ็บป่วยของเด็กที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของประเทศไทยจากกระทรวงสาธารณสุข  ปี 2563 พบว่า เด็ก 0-14 ปี ทั่วประเทศ ที่มีอยู่ 11.4 ล้านคน  มีเด็กถึงร้อยละ 44.1 อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก 618,131 คน  คิดเป็นร้อยละ 5.42 แยกเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ 332,147 คน ร้อยละ 53.73  โรคหอบหืด 7,758 คน คิดเป็นร้อยละ 1.26 ระบบหัวใจและหลอดเลือด 1,019 คน คิดเป็นร้อยละ 0.16 ตาอักเสบ 84,977 คน คิดเป็นร้อยละ 13.75 และผิวหนังอักเสบ 199,961 คน คิดเป็นร้อยละ 32.35 และทุก ๆ วันจะมีเด็กที่มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 1,694 คนต่อวัน 

“เรายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีเด็กเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 แต่การเฝ้าระวังผลกระทบพบความเกี่ยวข้องว่าช่วงที่มีฝุ่นสะสมเกินค่ามาตรฐาน พบเด็กป่วยและมาโรงพยาบาลที่เฝ้าระวังด้วยโรคเหล่านี้” 

ผลอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 22-25 ม.ค. 2564 ยังพบว่า  ความเสี่ยงของเด็กที่มีโอกาสรับสัมผัสฝุ่นจากชีวิตประจำวันมากที่สุด ร้อยละ 55 มาจากขณะเดินทาง โดยรถจักรยานยนต์มากที่สุด ร้อยละ 35 รถสาธารณะไม่ปรับอากาศ ร้อยละ 12 เดินเท้า ร้อยละ 8 ส่วนระยะเวลาที่เด็กทำกิจกรรมกลางแจ้ง น้อยกว่า 1ชม./วัน ร้อยละ 38.3 , 1-3 1ชม./วัน ร้อยละ 52.9 ,4-61ชม./วัน ร้อยละ 6 ,และมากกว่า 61ชม./วัน ร้อยละ 2.8 

สถานการณ์ของไทยสอดคล้องกับข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO โดยประมาณการณ์ว่าทุกปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน กว่า 570,000 คน  และยังมีผลกระทบระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง ประสิทธิภาพการทำงานของปอด รวมถึงการกระตุ้นจากโรคหอบหืดเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งในระยะยาว

เด็กที่มีโรคประจำตัว เฝ้าระวังตั้งแต่ค่ามาตรฐานระดับสีเหลือง

ผศ.พญ.หฤทัย กมลภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเฝ้าระวังเด็ก ต้องแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว กลุ่มนี้การเฝ้าระวังสุขภาพให้ยึดตามเกณฑ์คุณภาพอากาศที่ระดับสีส้มตามที่รายงานในแอปพลิเคชัน Air4thai  แต่สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว หอบหืด ภูมิแพ้ ต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในระดับสีเหลืองซึ่งในะดับนี้เกณฑ์ค่ามาตรฐานจะเตือนว่าเป็นระดับปานกลาง แต่เด็กที่มีโรคประจำตัวจะเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว และไม่ควรดูค่าเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะ PM 2.5 แต่ควรดูอากาศโดยรวม เพราะในอากาศมีมลพิษที่ต้องเฝ้าระวังมากถึง 6 ตัว หากเด็กสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานาน ระยะสั้นจะส่งผกระทบที่ ตา เยื่อบุจมูก ผิวหนัง และมีอาการนอนกรน ขาดออกซิเจนตอนนอน มีผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้  และมีผลในระยะยาวที่ก่อโรคอันตรายรุนแรง 

“ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ห่อหุ้มด้วยพิษโลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน ระยะสั้นส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจมากที่สุด ระยะยาวเมื่อมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด เมื่อมีการปั้มของหัวใจเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองขาดเลือดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต”

รศ.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรงเรียนจะกลับมาเปิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ต้องเตรียมตัวรับมือฝุ่นพิษจิ๋วด้วย นอกจากการงดกิจกรรมกลางแจ้งช่วงที่มีค่าฝุ่นสะสมตัวหนาแน่นแล้ว ควรแบ่งคลัสเตอร์เฝ้าระวังเช่นเดียวกับการคุมโรคระบาด หากพบเด็กมีอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หรืออาการข้างเคียงในระยะสั้น เกิน 10 คน ควรสั่งปิดสถานศึกษา นอกจากนี้เด็กควรได้รับการดูแล มีอุปกรณ์ป้องกันที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ สวมใส่กระชับใบหน้า และครอบครัวต้องลดการปล่อยมลพิษภายในบ้าน เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่าบ้านที่มีการสูบบุหรี่จะมีปริมาณค่าฝุ่นที่สูงมาก นอกจากนี้ควรความสะอาดบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ  ปิดหน้าต่างให้มิดชิดช่วงที่มีฝุ่น เปิดระบายอากาศได้ในช่วงเที่ยง  หรือควรมีเครื่องฟอกอากาศชนิดไม่ผลิตโอโซน 

27-28 ม.ค. นี้ เฝ้าระวังฝุ่นสะสมตัวหนาแน่น

ปริมาณฝุ่นในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. นี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝุ่นจะสะสมตัวหนาแน่น ส่งผลให้หลายพื้นที่มีปริมาณค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บางพื้นที่อยู่ในระดับสีส้ม และสีแดง ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสภาพอากาศและการเผาในพื้นที่และไฟป่า 

ส่วนปริมาณค่าฝุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มี 35 จังหวัด ที่พบว่าค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 8 จังหวัดอยู่ในระดับสีแดง ค่ามาตรฐานเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล สมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เชียงใหม่  ระยอง หนองคาย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส