พบ “ผู้สูงอายุ” ​ติดโควิด-19 จากลูกหลานมากขึ้น

สธ. เร่งยกระดับค้นหาเชิงรุกในชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด ติดตามกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ครบ 14 วัน พร้อมติดตามสถานการณ์​ผู้สูงอายุ “ประเทศนอร์เวย์” ​ฉีดวัคซีนดับ​ 23​ คน ยันเป็นคนละตัวกับไทย

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564​ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 374 คน มาจากระบบเฝ้าระวัง 43 คน คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 321 คน และเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน รักษาหายเพิ่มขึ้น 109 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ทำให้ระลอกใหม่ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสม 7,817 คน หายป่วยสะสม 5,075 คน ยังอยู่ระหว่างการรักษา 2,732 คน เสียชีวิตสะสม 10 คน อายุระหว่าง 40-80 กว่าปี และส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นต้น

สำหรับภาพรวม พบจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับควบคุมได้ โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาเลย มี 29 จังหวัด ส่วนการค้นหาเชิงรุกยังเจอผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ จ.สมุทรสาคร

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

“ขณะนี้พบการติดเชื้อในผู้สูงอายุจำนวนมาก หลายราย โดยติดเชื้อจากในครอบครัวโดยคนหนุ่มสาวที่ไม่มีอาการ ทำให้มีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ เช่น กรณีเขตทวีวัฒนา กทม. มีการติดเชื้อใน 2 ครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อทั้งอายุ 91 ปี 71 ปี และ 73 ปี หรือกรณี จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีการติดเชื้อ 11 ราย ก็พบการติดเชื้อในเด็กอายุ 1 ปี 3 ปี และผู้สูงอายุ 55 ปี 57 ปี และ 77 ปี”

ดังนั้น จึงต้องยกระดับค้นหาเชิงรุกในชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องกำกับติดตามกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ครบ 14 วัน ช่วยลดเสี่ยงแพร่เชื้อต่อในชุมชน และลดเสี่ยงการติดเชื้อในผู้สูงอายุได้ขอความร่วมมือลูกหลาน ที่อยู่หรือไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ภาพรวมมีรายงานการติดเชื้อระลอกใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 61 จังหวัด โดย จ.พัทลุง เป็นจังหวัดใหม่พบการติดเชื้อ มาจากการคัดกรองเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติ พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย นอกจากนี้ ยังมีการคัดกรองเชิงรุกใน จ.ตรัง พบผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานข้ามชาติ 2 คน เป็นคนงานในโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โดยคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่มือไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และทำการตรวจโควิด-19 เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายในการตรวจ จึงพบเชื้อวันที่ 14 ม.ค. ส่วนอีกรายเป็นพนักงานในโรงงานเดียวกันได้รับการตรวจด้วยก็พบเชื้อ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 คน กำลังเฝ้าระวังติดตามอาการ

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากเป็นแสนคน โดยประเทศมาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,029 คน ติดเชื้อสะสม 155,095 คน และเมียนมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 491 คน ติดเชื้อสะสม 133,569 คน ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังต้องเข้มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงและปกครอง ดำเนินการเฝ้าระวังการลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด รวมถึงดำเนินการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นวัยแรงงานส่วนใหญ่มักติดเชื้อไม่มีอาการ จึงต้องค้นหาเชิงรุก เมื่อพบการติดเชื้อจะแยกกักและดูแลรักษา เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อในชุมชน จึงทำให้ จ.ตรังและพัทลุง พบแรงงานข้ามชาติติดเชื้อและนำเข้าสู่ระบบ พร้อมกับสอบสวนโรคถึงที่มาของการติดเชื้อต่อไป

“สำหรับประชาชนยังต้องช่วยกันคงมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น และช่วยเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาภายในชุมชน หากพบเห็นบุคคลแปลกหน้า แรงงานต่างด้าวหรือคนไทยเข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขเพื่อดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ขอความร่วมมือไม่ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา และขอให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศอย่างถูกต้อง เข้ารับการกักกัน 14 วัน หากติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษา ทำให้ปลอดภัยทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชน”

ยันไทยฉีดวัคซีน​โควิด-19 คนละตัวกับนอร์เวย์

นพ.โสภณ กล่าวถึงกรณีนอร์เวย์พบผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 23 คน ว่า นอร์เวย์ได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนคนละตัวกับที่ไทยตั้งเป้านำมาฉีดคนไทย อย่างไรก็ตาม แพทย์ของนอร์เวย์แนะนำว่าต้องประเมินความเสี่ยงก่อนการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว โดยต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล และยังไม่สรุปว่าการฉีดวัคซีนนี้ทำให้เสียชีวิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะนำข้อมูลมาใช้วางแผนดูแลการรับวัคซีนของคนไทยให้มีความปลอดภัยต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS