ล้อมรั้วครอบครัว แก้ปัญหา “เคนมผง” หลังเยาวชนตกเป็นเหยื่อ

แพทย์ เตือน เสพ “เคนมผง” กดทับประสาทส่วนกลางทำให้หลับลึก ส่งผลต่อหัวใจ-เสียชีวิต แนะนำให้ครอบครัวเร่งทำเกราะป้องกันกับลูกไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

เมื่อวันที่ (14 ม.ค. 2564) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ พฤติกรรมวัยรุ่นกับสารเสพติด บุหรี่ ต้นทางสู่ยาเสพติด กับกรณีเคนมผง โดย สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า จากรณีที่มีผู้เสียชีวิตจาการเสพยาเสพติดที่เรียกว่า “เคนมผง” ทำให้เห็นได้ว่าอันตรายของยาเสพติดมีเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญยังมีวัยรุ่นที่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่การเสพสารเสพติดอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบุหรี่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยาเสพติดชนิดอื่น ๆ

“การแก้ปัญหาดังกล่าวคงต้องให้ความสำคัญทั้งสองส่วน คือ ทางด้านจิตใจของวัยรุ่น จะต้องมีความเข้าใจในช่วงวัยนี้ที่มีความอยากรู้ อยากลอง แต่จะทำอย่างไรที่จะมีส่วนแก้ไขในจุดบกพร่องเหล่านี้ไปได้ ควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มวัยรุ่นอาศัยอยู่ รวมไปถึงครอบครัวที่จะต้องมีส่วนในการดูแล แม้ว่าสภาพความเป็นอยู่โดยรอบจะเต็มไปด้วยสิ่งไม่ดี แต่หากครอบครัวมีความเอาใจใส่ ก็จะทำให้วัยรุ่นเหล่านี้มีเกราะป้องกันได้”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงผลวิจัยทางการแพทย์ที่มีพฤติกรรมเสพติดบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะได้รับสารนิโคตินเข้าไปอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลกระทบต่อสมองให้เปิดรับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ได้ง่าย และยิ่งในวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง และกล้าได้ กล้าเสีย ต้องการให้เพื่อนยอมรับ หากได้รับการชักชวนก็จะทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯ เคยได้ไปสำรวจกับสำนักงาน ป.ป.ส. ความเห็นของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดียาเสพติด ภายในสถานพินิจ ก็พบว่าเยาวชนที่เคยกระทำผิดแล้วมีความต้องการอยู่ 4 อย่าง คือ

  1. ต้องการมีสัมมาอาชีพ หรือการมีอนาคตที่ดีหลังจากพ้นโทษแล้ว
  2. ต้องการมีคุณค่า โดยให้ทุกคนรู้จักตัวตนของเขาเอง
  3. ต้องการมีทักษะ โดยเฉพาะพ่อแม่ ควรมีการเสริมทักษะโดยการร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยใช้คำถามปลายเปิดกับลูกกับปัญหาที่พบเจอ และต้องการมีแบบอย่างที่ดี ซึ่งครอบครัวก็ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีได้ในการเป็นตัวอย่างให้กับลูก

ขณะที่ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี หรือ สยบช. เปิดเผยถึง ผลกระทบของผู้ที่ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะเคตามีน ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการหลอนประสาท ทำให้เคลิ้ม และหากนำยาชนิดอื่นมาผสมก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการตามความรุนแรงของยาเสพติดชนิดนั้น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ผู้ที่เสพไปแล้วหากมีโรคประจำตัว หรือการตอบสนองร่างกายของแต่ละคนรับสารเสพติดได้ไม่เท่ากัน บางคนอาจเสียชีวิตทันที ส่วนบางคนอาจจะมีอาการทางจิตเวชจนไม่สามารถรักษาให้หายได้

ภาพ : Thai PBS News

ส่วนยาเคนมผงที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ พบว่ามียาเสพติด และยาชนิดอื่นผสมอยู่หลายชนิดแตกต่างกันไป แต่เป็นสารเสพติดที่มีผลกระทบต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ จากการชันสูตรศพพบว่ายาเสพติดที่เสพมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางอย่างมาก ทำให้หลับลึก และส่งผลต่การทำงานของหัวใจคาดว่าการเสพยานี้จะเป็นสาเหตุหลักทำให้ผู้เสพเสียชีวิต

ข้อมูลจาก สบยศ. ยังระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ถึง 31 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาบำบัดจากการเสพยาเสพติด 3,803 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และกลุ่มอายุ 20-24 ปี มีจำนวน 726 คน รองลงมาอายุ 25-29 ปี จำนวน 692 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active