“ทส.-มท.” สั่งเดินหน้ามาตรการชิงเผา-ชิงเก็บ ลดเชื้อเพลิงในป่า “อก.” เตรียมออกกฎหมายให้โรงงานรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
ทส. – มท. สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เร่งเดินหน้าแผนแก้ฝุ่น PM 2.5
วันนี้ (14 ม.ค. 2564) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จัดประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) กับผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 และมีมติดังนี้
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 คือ
1.1 พิจารณาจัดตั้งชุดปฏิบัติการมวลชน ลงพื้นที่สร้างการรับรู้และสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ทส. ฝ่ายปกครอง ทหาร และจิตอาสาพระราชทาน เพื่อสื่อสารการดำเนินงานของภาครัฐให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การลดปริมาณเชื้อเพลิงโดยการชิงเก็บ
1.2 ส่งเสริมบทบาทของเครือข่ายภาคประชาชน และการทำงานร่วมกับจิตอาสาพระราชทาน โดยจัดการฝึกอบรมให้ความรู้และมอบหมายการปฏิบัติงาน เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสา เป็นแนวร่วมในการสื่อสาร และเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมของภาครัฐ ทั้งการชิงเก็บ การจัดทำแนวกันไฟ การทำฝาย การปลูกป่า การดูแลรักษาป่าและป้องกันไฟป่า
1.3 สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ อบต. นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน สนับสนุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการชิงเก็บ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมในการประชุม เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ได้อนุมัติงบประมาณ ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) 17 จังหวัดภาคเหนือ วงเงิน 33 ล้านบาท (จังหวัดละ 1-4 ล้านบาท ขึ้นกับสภาพพื้นที่) เพื่อขับเคลื่อนการชิงเก็บในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
1.4 สำหรับจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้มีการจัดการเชื้อเพลิงโดยการชิงเผา ทส. มอบหมายให้ ทสจ. เป็นผู้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบัญชาการการจัดการเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและไม่ส่งผลให้ฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ หากฝุ่นละอองสูงเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขอให้พิจารณางดการชิงเผาทุกกรณี
2. ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับ ทส. และ มท. ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “จิตอาสา” ตามโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ไปแล้วกว่า 1,200 คน ใน 12 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบทั่วประเทศภายในปี 2570 จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับและสนับสนุนการต่อยอดการฝึกอบรมไปสู่ระดับตำบลและชุมชน โดยให้ฝ่ายปกครอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เกษตรอำเภอ ทหาร ตำรวจ และจิตอาสาพระราชทาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปขยายผลในรูปแบบของหลักสูตรชุมชนต่อไป
3. ขอให้จังหวัดลดและควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในปริมาณค่อนข้างสูง และกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายรับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่เกินร้อยละ 20 ในปี 2564 ขอให้กำชับหน่วยงานรับผิดชอบให้ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย
4. ในพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในและนอกเขตป่า ขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดทำข้อมูล/แผนที่พื้นที่แปลงเกษตรที่มีการ “เผาซ้ำซาก” โดยระบุพิกัดที่ชัดเจนเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อใช้ในการกำกับติดตาม และการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
5. ทส. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่รวบรวมแผน/ผลการป้องกันและแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ของหน่วยงานภายใน ทส. และรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อใช้ในการติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทุกสัปดาห์
6. ทส. ได้ส่งรายงานคุณภาพอากาศ ข้อมูลจุดความร้อน พร้อมทั้งการคาดการณ์สภาพอากาศในช่วง 1-3 วันข้างหน้า ให้ ทสจ. และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการกำหนดมาตรการในการรับมือสถานการณ์และแก้ไขปัญหา
7. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดดำเนินการลดและควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ทั้งการจราจร การก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
ด้านเว็บไซต์ข่าว ประชาชาติธุรกิจ เผยแพร่ข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะสั้นและระยะยาวไว้ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม
โดยมาตรการเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดปริมณฑลเข้มงวด พร้อมกับขอความร่วมมือผู้ประกอบตรวจสอบควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ
รวมถึงปรับแผนการผลิตและขอความร่วมมือให้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบ การระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รวมทั้งการปรับแต่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากหม้อน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้และลดปัญหามลพิษทางอากาศ
สำหรับในระยะยาวจะดำเนินการขยายผลการติดตั้งระบบตรวจสอบ CEMS โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมพื้นที่และประเภทการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำพวก 3 เตาเผา ที่มีการใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล และหม้อน้ำตามขนาดที่กำหนด รวมถึงการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานให้เข้มงวดขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)
ส่วนมาตรการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้จัดทำมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกาศใช้แล้ว 37 มาตรฐาน จากทั้งหมด 63 มาตรฐาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ภายในประเทศ และการกำหนดอัตราค่าไฟคงที่ทุกช่วงเวลาสำหรับการชาร์ตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการกำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ : อ้อยสด เป็น 20:80 ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสดกับราคาอ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด จัดซื้อรถสางใบอ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กได้ยืมไปใช้ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร
โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ