ไม่อนุญาตให้เข้าออก พร้อมระดมชาวบ้านทำแนวกันไฟ และศาลาเฝ้าระวังไฟป่า รับมือไฟป่าช่วงฤดูแล้ง ทำลายผืนป่าจิตวิญญาณ
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 สองชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จังหวัดลำปาง ประกาศเริ่มปิดชุมชน ไม่อนุญาตให้เข้าออก ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าไปในพื้นที่ชุมชน ขณะเดียวกัน ได้เริ่มระดมชาวบ้านทำแนวกันไฟและศาลาเฝ้าระวังไฟป่า เตรียมรับมือภัยพิบัติไฟป่า ที่จะลุกลามเข้ามาในผืนป่าจิตวิญญาณ ช่วงฤดูแล้ง
สมชาติ รักษ์สองพลู ชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องปกติ ที่ชุมชนจะเริ่มทำแนวกันไฟตั้งแต่เดือนมกราคม แต่จากภูมิปัญญาและคำสอนของบรรพบุรุษสะท้อนว่า หากปีใดที่ฝนทิ้งช่วงนาน ไฟป่าจะเกิดขึ้นรุนแรง จากการสะสมเชื้อเพลิงที่มีมากกว่าปกติ
เช่นเดียวกับ ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ชุมชนเริ่มระดมกันทำแนวกันไฟตั้งแต่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา และสร้างศาลาเฝ้าระวังไฟป่า 5 จุด เพื่อป้องกันไฟป่าจะลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแล เนื่องจากฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้ใบไม้หล่นเยอะ มีโอกาสที่ไฟป่าจะรุนแรงขึ้นกว่าปีที่แล้ว
“ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ถ้าปีไหนฝนตกน้อยจะทำให้แล้งนาน และจะมีใบไม้หล่นเยอะ ต้องเตรียมการรับมือไว้ เพราะไฟป่า จะเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา ถ้าหากเกิดไฟป่าเมื่อไหร่ ถ้าลุกลามข้ามมาในเขตที่ดูแลไว้ ก็คงจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะไฟไม่ข้ามแนวเขตที่เคยดูแล หลายสิบปีแล้ว จะมีใบไม้และเชื้อเพลิงสะสมเยอะ”
เขากล่าวอีกว่า ต้องการให้ภาครัฐและคนเมืองเข้าใจในวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ได้ถางป่าเป็นลูก ๆ ทำไร่เลื่อนลอยหรือเผาป่า แต่อยู่ด้วยความเคารพรักและดูแลรักษา
“เราอยู่ป่า เรารักผืนป่า ถ้าเราไม่ดูแล ถ้าปล่อยให้ไฟไหม้ ป่าก็จะหมดไปทีละนิด รวมถึงสัตว์ป่า ถ้าเราไม่ไปดับ สัตว์อาจจะตายเยอะมาก ปกาเกอะญอเท่าที่รู้จะเป็นเผ่าที่รักป่ามาก จะช่วยกันดูแลป่า เพราะป่าก็เป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา เราต้องดูแล แม้จะเหนื่อยเราก็ไม่ท้อ ทุก ๆ ปีเราจะทำแนวกันไฟเพื่อปกป้องเขตพื้นที่ชุมชนที่บรรพชนดูแลมา ไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่รัฐหรือคนในเมืองมอง”
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านกลาง จัดทำแนวกันไฟความกว้าง 8 เมตร ยาว 36 กิโลเมตร รอบพื้นที่ชุมชนครอบคลุมผืนป่า 23,080 ไร่ ส่วนชุมชนบ้านแม่ส้าน จัดทำแนวกันไฟ 5-6 เมตร และระยะทางยาว 36 กิโลเมตร ครอบคลุมผืนป่าจิตวิญญาณ ขนาด 18,102 ไร่ โดยทั้งสองชุมชนดำรงวิถีชีวิตด้วยการทำไร่หมุนเวียนเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารหลัก ควบคู่กับการหาของป่า เช่น น้ำผึ้ง หน่อไม้ มะแขว่น และหนอนรถด่วน เป็นต้น ซึ่งรายได้จากการขายของป่าตามฤดูกาล ชุมชนใช้เป็นกองทุนในการจัดการไฟป่าตลอดทั้งปี