คพ. แนะ ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วถูกหลัก ลดปัญหาขยะ

ย้ำ เป็นมูลฝอยติดเชื้อ ต้องจัดการตามกฎกระทรวงฯ กรีนพีซ เผย ปี 2563 มีหน้ากากอนามัยถูกทิ้งในมหาสมุทรทั่วโลก กว่า 1,560 ล้านชิ้น

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้มีการใช้หน้ากากอนามัยกันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงขอให้นำข้อแนะนำเบื้องต้นในการจัดการหน้ากากอนามัยใช้แล้ว กลับมาใช้ในสถานการณ์การระบาดครั้งนี้อีกครั้ง เพื่อให้ถูกนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และลดปัญหาขยะ

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้ถือว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วเป็น “มูลฝอยติดเชื้อ” ที่ต้องมีการจัดการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ได้แก่ เก็บรวบรวมในภาชนะที่มีสีหรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมูลฝอยติดเชื้อ มีการเก็บกัก รวบรวม และกำจัดทำลายอย่างถูกต้อง

สำหรับประชาชนทั่วไป (กรณีที่ใช้หน้ากากอนามัย แบบใช้แล้วทิ้ง) คำแนะนำคือ ห้ามใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ก่อนทิ้งให้ตัด ฉีก หรือทำลายก่อน เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้ใหม่ ให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยจากขยะประเภทอื่น ๆ หรือทิ้ง ณ จุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และห้ามเก็บกักหน้ากากอนามัยใช้แล้วไว้ในที่พักอาศัย เกิน 7 วัน

สำหรับผู้แยกสังเกตอาการที่บ้าน (ประชาชน) ควรแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น และระบุข้อความว่า “ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะประเภทอื่น ๆ หรือทิ้ง ณ จุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว

สำหรับสำนักงานหรือสถานประกอบการ ให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่น และระบุข้อความว่า “ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะประเภทอื่น ๆ หรือทิ้ง ณ จุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว

สำหรับกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดให้มีจุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่รับผิดชอบ และนำไปกำจัดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทิ้ง การเก็บขน การรวบรวมขยะ และการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง

สำหรับโรงพยาบาลและสถานที่กักกันโรค ให้แยกทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ และหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงสีแดง 2 ชั้น ทึบแสง ทนทานต่อสารเคมี และไม่ฉีกขาดง่าย กันน้ำได้ ไม่รั่วซึม และระบุข้อความว่า “มูลฝอยติดเชื้อ” ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาวและมัดปากถุงให้แน่น จัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อไว้เป็นการเฉพาะ และส่งให้กรุงเทพมหานครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่กำจัดเอกชน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป รวมทั้งควรอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการรวบรวมและเคลื่อนย้ายมูลฝอยติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

หน้ากากอนามัยมากกว่า 1,560 ล้านชิ้น หลุดออกลงสู่มหาสมุทรโลกในปี 2563

ก่อนหน้านี้ (6 ม.ค. 2564) ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่บทความข้อมูลการศึกษาของ OceansAsia ที่ติดตามจำนวนหน้ากากอนามัยจำนวนมากที่ลอยขึ้นฝั่งบนเกาะห่างไกลทางตอนใต้ของฮ่องกงตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ทั้งที่ไม่เคยพบมาก่อนการระบาด

โดยหน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่ทำมาจากโพลีโพรพีลีน โดย Teale Phelps Bondaroff ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ OceansAsia บอกว่า เริ่มพบหน้ากากอนามัยที่แตกตัวออกซึ่งบ่งชี้ถึงปัญหาที่แท้จริงที่ว่า ไมโครพลาสติกเกิดจากหน้ากากอนามัย

จากการศึกษาของ OceansAsia ระบุว่า จากจำนวนหน้ากากอนามัย 52,000 ล้านชิ้นที่ผลิตออกมาทั่วโลกในปี 2563 คาดว่ามีประมาณ 1,560 ล้านชิ้น ถูกทิ้งและหลุดรอดสู่มหาสมุทรในปี 2563 ผลคือ เกิดมลพิษพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้น 4,680 ถึง 6,240 เมตริกตัน และหน้ากากอนามัยเหล่านี้ จะอยู่ในมหาสมุทรนานถึง 450 ปีหรือมากกว่านั้น และจะแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ

“Bondaroff บอกว่า สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้ผู้คนปลอดภัยแต่ในขณะเดียวกัน หน้ากากอนามัยก็ส่งผลกระทบที่ยาวนานต่อสิ่งแวดล้อมของเรา เราก็เจอมันบนชายหาด และนี่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของวิกฤตมลพิษพลาสติกในภาพรวมที่กำลังทำลายมหาสมุทรของเรา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว