ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฯ ระบุ เหนือ-อีสาน บางจังหวัดพบเกินค่ามาตรฐานแล้ว กรมอนามัย แนะ หน้ากากต้องกันได้ทั้งฝุ่นและโควิด-19
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในงานแถลงข่าวของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) ว่า ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 พบว่า ภาพรวมส่วนใหญ่ อยู่ในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน ยกเว้นในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางจังหวัดที่พบเกินค่ามาตรฐาน คือ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร และหนองคาย โดยค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบสถานการณ์ PM 2.5 ในช่วงเดือน ธ.ค. 2562 – 9 ม.ค. 2563 กับเดือนธ.ค. 2563 – 9 ม.ค. 2564 พบว่า ค่าเฉลี่ย PM 2.5ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดลงถึงร้อยละ 42 ทั้งจากปริมาณการจราจรและจุดความร้อนในประเทศลดลง
ด้านผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ข้อมูลจากการสำรวจของกรมอนามัย โดยประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเอง ในช่วงวันที่ 1-9 ม.ค. 2564 ยังพบผลกระทบต่อสุขภาพ กว่าร้อยละ 48 แต่ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ร้อยละ 25.4 แสบจมูก ร้อยละ 22 แสบตา คันตา ตาแดง ร้อยละ 19.1 โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 25-34 ปี พบมากที่สุด ถึงร้อยละ 38.3 นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยมีแนวโน้มดีขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ถึงร้อยละ 75.8 กรมอนามัย แนะนำการเลือกหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ
หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน ต้องสะอาด ไม่มีสี กลิ่น ผิดปกติ เหมาะสมกับลักษณะกิจกรรม และพอดีกับใบหน้า
นักวิชาการ แนะ ช่วงฝุ่นหนาแน่น ควรใช้หน้ากาก N95 ไม่มีวาล์ว เพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ด้วย
ด้าน รศ.พานิช อินต๊ะ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ระบุว่า หน้ากากที่กันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและพื้นที่ที่นำไปใช้ หากเป็นพื้นที่เสี่ยงกับปริมาณฝุ่นที่หนาแน่น ควรใช้หน้ากาก N95 ชนิดไม่มีวาล์ว เพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ด้วย
หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโควิด-19 ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หน้ากากทางการแพทย์ (Surgical mask) หน้ากากกรองอากาศประเภท N95 ชนิด หน้ากากทางการแพทย์ จะปลอดภัยที่สุด หากเป็นบุคคลทั่วไป ไม่มีอาการและไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ แต่ควรเลือกที่มี 2 ชั้นขึ้นไป ชั้นแรก สะท้อนน้ำ และชั้นที่ 2 เป็นผ้าที่มีคุณสมบัติกรองอนุภาคฝุ่น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 15 ม.ค. เป็นต้นไป กรุงเทพฯ จะมีปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่นอีกครั้ง เนื่องจากลมนิ่ง แต่หากมาตรการปิดคุมพื้นที่บังคับต่อเนื่อง และการเผาในภาคการเกษตรลดลง ก็จะส่งผลให้สถานการณ์ไม่รุนแรงมาก